วันอังคารที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ศิลปินตัวน้อย....อารมณ์ดี


ศิลปะจัดเป็นภาษาของมนุษย์ในอีกลักษณะหนึ่งด้วยเหตุที่ศิลปะสามารถเป็นสื่อโยงความคิดความเข้าใจต่อกันของมวลมนุษย์ได้ ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกทางภาษา

การแสดงออกทางศิลปะมักจะแตกต่างกันออกไป ตามแนวจินตนาการและการสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคล นักจิตวิทยาส่วนมากเชื่อว่า ความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคลเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวและประจำตัว สำหรับเด็กซึ่งจะพัฒนาการไปได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและโอกาสที่ผู้เกี่ยวข้องกับเด็กจะจัดสรรส่งเสริมให้ ความคิดสร้างสรรค์นี้จะส่งผลสะท้อนถึงเด็กในหลาย ๆ ด้าน เช่น ระดับความเชื่อมั่นในตนเอง การแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและสติปัญญา การแสดงออกเหล่านี้เราพอจะมองเห็นได้จากการวาดภาพระบายสี การปั้น เป็นต้น

วิคเตอร์โลเวนเฟลด์ (Victor Lowenfeld) นักจิตวิทยาการศึกษาได้ทำการศึกษาค้นคว้างานทางด้านศิลปะของเด็ก และการคิดสร้างสรรค์จากงานทางศิลปะ โดยให้เด็กแสดงออกทุกอย่าง ๆ อิสระเขาทดลองกับเด็กที่มีฐานะทางเศรษฐกิจปานกลาง อายุตั้งแต่ 2 ขวบครึ่งขึ้นไป ให้เด็กวาดภาพด้วยสีเทียนจะสีอะไรก็ได้ พบว่าเด็กมีพัฒนาการในการวาดขีดเขี่ยเป็น 4 ขั้นด้วยกัน

1. ขั้นขีดเขี่ย (Scribbling Stage) ประมาณอายุระหว่าง 2-4 ปี ขั้นนี้แบ่งระยะของพัฒนาการได้ออกเป็น 4 ขั้น คือ

1.1 Disorder Scribbling (2 ปี) การขีดเขียนยังเป็นแบบสะเปะสะปะ กล่าวคือ การขีดเขียนจะเป็นเส้นยุ่งเหยิง โดยปราศจากความหมาย ทั้งนี้เนื่องจากการประสานงานของกล้ามเนื้อยังไม่ดี เช่น การบังคับกล้ามเนื้อเล็ก ๆ ยังทำไม่ได้ จะทดลองง่าย ๆ โดยให้เด็กวัยนี้กำมือ แล้วให้เด็กยกนิ้วมือทีละนิ้ว หรือสองนิ้วก็ได้ เด็กจะทำได้ไม่ได้ หรือลองให้เด็กชกเรา เด็กจะยกแขนชกพร้อม ๆ กัน ทั้ง 2 แขน เป็นต้น

1.2 Longitudinal Scribbling ขั้นขีดเป็นเส้นยาว เด็กจะเคลื่อนแขนขีดได้เป็นเส้นแนวยาว ขีดเขี่ยซ้ำ ๆ หลายครั้ง ทั้งแนวตั้งและแนวนอน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางกล้ามเนื้อว่าเด็กค่อย ๆ ควบคุมกล้ามเนื้อของการเคลื่อนไหวของตนเองให้ดีขึ้น ระยะนี้เด็กจะเริ่มรู้สึกสนุกและสนใจเป็นครั้งแรก

1.3 Circular Scribbling เป็นขั้นที่เด็กสามารถขีดลากเป็นวงกลม ระยะนี้การประสานงานของกล้ามเนื้อ(mortor coodination) ดีขึ้น การประสานงานของกล้ามเนื้อมือ และสายตา (Eye-hand coodination) ดีขึ้น เด็กสามารถขีดเส้น ซึ่งมีเค้าเป็นวงกลมเป็นระยะ เด็กเคลื่อนไหวได้ตลอดทั้งแขน

1.4 Noming Scribbling ขั้นให้ชื่อรอยขีดเขียน การขีดเขียนชักมีความหมายขึ้น เช่น จะวาดรูป น้อง พี่ พ่อ แม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก ขณะขีดเขียนไปเด็กก็จะบรรยายไปด้วยถ่ายทอดออกมาในรูปการขีดเขียนและความคิดคำนึงในภาพ

พัฒนาการทั้ง 4 ระยะนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละบุคคลไม่คงตัวเสมอไป เด็กที่มีพัฒนาการขึ้นเร็วจะถึงขั้น Nomimg Scribbling ก่อน ซึ่งนับเป็นขั้นพัฒนาการที่สำคัญมาก จากการใช้ความนึกคิดในการเคลื่อนไหวของเด็ก ทั้ง ๆ ที่ภาพนั้นจะไม่เป็นรูปร่างดังกล่าวเลย ซึ่งเด็กจะบรรลุถึงขึ้นนี้เมื่อใกล้ 4 ขวบ

2. ขั้นเริ่มขีดเขียน (Pre-Schematic Stage) (4-7 ปี) เป็นระยะเริ่มต้นการขีดเขียนภาพอย่างมีความหมาย การขีดเขียนจะปรากฏเป็นรูปร่างขึ้น สัมพันธ์กับความจริงของโลกภายนอกมากขึ้น มีความหมายกับเด็กมากขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้จาก

2.1 คนที่วาดอาจเป็น พ่อ แม่ พี่ น้อง ตุ๊กตาที่รัก ฯลฯ

2.2 ชอบใช้สีที่สะดุดตา ไม่คำนึงถึงความเป็นจริงตามธรรมชาติ แล้วแต่สีไหนจะประทับใจ

2.3 ช่องไฟ (Space) ภายในภาพยังไม่เป็นระเบียบ สิ่งที่เขียนมักกระจัดกระจายไม่สัมพันธ์กัน

2.4 การออกแบบ (Design)ไม่ค่อยมีหรือไม่มีเลย แล้วแต่จะนึกหรือคิดว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

3. ขั้นขีดเขียน (Schematic Stage) (7-9 ปี) เป็นขั้นที่ขีดเขียนให้คล้ายของจริง และความเป็นจริง จะพิจารณาได้ตามลำดับดังนี้

3.1 คน รูปที่ออกมาจะแสดงพอเป็นสัญลักษณ์ ถ้าวาดรูปคนเราอาจไม่รู้ว่าเป็นรูปคนและภาพที่ออกมาเป็นรูปทรงเรขาคณิต เช่น

ส่วนใดที่เด็กเห็นว่าสำคัญ น่าสนใจก็จะวาดส่วนนั้นใหญ่เป็นพิเศษ ส่วนไหนที่ไม่สำคัญอาจตัดทิ้งไปเลย ฉะนั้น เราจะเห็นเด็กวัยนี้วาดภาพส่วนต่าง ๆ ขาดหายไป เช่น ลำตัว ขา เท้า ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องประหลาดอะไรเลย บางทีอาจะเป็นเด็กหัวโต ตาโต แขนโต ฯลฯ แล้วแต่เด็กจะให้ความสำคัญอะไร ำและบางทีในรูปหนึ่งจะย้ำหลาย ๆ อย่าง ในภาพ

3.2 การใช้สี ส่วนมากใช้สีตรงกับความเป็นจริง แต่มักใช้สีเดียวตลอด เช่น พระอาทิตย์ต้องสีแดง ท้องฟ้าต้องสีฟ้า ประสบการณ์ของเด็กจะทำให้ใช้สีได้ถูกต้อง และตรงกับความเป็นจริงขึ้น ถ้าใบไม้สดต้องสีเขียว ถ้าใบไม้แห้งต้องสีน้ำตาล เป็นต้น

3.3 ช่องว่าง (Space) มีการใช้เส้นฐาน (Based line) แล้วเขียนทุกอย่างสัมพันธ์กันบนเส้นฐาน เช่น วาดรูป คน สุนัข ต้นไม้ บ้าน อยู่บนเส้นเดียวกัน___________ภาพที่ออกมาจะเป็นลำดับเหตุการณ์ ส่วนสูง ขนาด ยังไม่มีความสัมพันธ์กัน เช่น ดวงอาทิตย์อยู่บนขอบของกระดาษ รูปคนก็อาจสูงถึงใกล้ขอบกระดาษ เป็นต้น

3.4 งานออกแบบไม่ค่อยดี มักจะเขียนตามลักษณะที่ตนพอใจ

4. ขั้นวาดภาพของจริง (The Drawing Realism) (9-11 ปี) เป็นขั้นเริ่มต้นการขีดเขียนอย่างของจริง เนื่องจากระยะนี้ตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการ เด็กเริ่มรวมกลุ่มกัน โดยแยกชาย หญิง เด็กผู้ชายชอบผาดโผน เดินทางไกล เด็กผู้หญิงสนใจเครื่องแต่งตัวเพื่อแต่งตัว งานรื่นเริง ฉะนั้น การขีดเขียนจะแสดงออกในทำนองต่อไปนี้ คือ

4.1 คน จะเน้นเรื่องเพศด้วยเครื่องแต่งตัว แต่กระด้าง ๆ

4.2 สี ใช้ตามความเป็นจริง แต่อาจเพิ่มความรู้สึก เช่น บ้านคนจนอาจใช้สีมัว ๆ บ้านคนรวยใช้สีสด ๆ มีชีวิตชีวา

4.3 ช่องว่าง ทุกอย่างในช่องว่างเหลื่อมล้ำกันได้ เช่น ต้นไม้บังฟ้าได้ วาดฟ้าคลุมไปถึงดินเส้นระดับ (Based Line) ค่อยหาย ๆ รูปผู้หญิงมักเน้นลวดลาย เครื่องแต่งกายมีดอกดวง รูปผู้ชายก็ต้องเป็นรูปคาวบอย

การจัดวัตถุให้สัมพันธ์กันเป็นเรื่องสำคัญมากในระยะนี้ เพราะเป็นระยะแรกของพัฒนาการทางการรับรู้ทางสายตา ซึ่งจะนำไปสู่การวาดภาพสามมิติได้อีกต่อหนึ่ง

4.4 การออกแบบ ประสบการณ์ของเด็กจะทำให้การออกแบบดีขึ้น เป็นธรรมชาติขึ้นรู้จักการวางหน้าที่ของวัตถุต่าง ๆ

5. ขั้นตอนการใช้เหตุผล (The Stage of Reasoning) (11-12 ปี) ขั้นการใช้เหตุผล ระยะเข้าสู่วัยรุ่น เป็นระยะที่เด็กแสดงออกมาอย่างไม่รู้สึกตัว เช่น เอาไม้บรรทัด ดินสอมาร่อนแล้วทำเสียงอย่างเครื่องบิน เป็นต้น เด็กจะทำอย่างเป็นอิสระ และสนุกสนาน ถ้าผู้ใหญ่ทำก็เท่ากับไม่เต็มบาท ถ้าพิจารณาจากขั้นนี้จะสังเกตว่า

5.1 การวาดคน จะเห็นข้อต่อของคน ซึ่งเป็นระยะเด็กเริ่มค้นพบเสื้อผ้ามีรอบพลิ้วไหว มีรอยย่น รอยยับ คนแก่-เด็ก ต่างกัน ด้านสัดส่วนก็ใกล้ความจริงขึ้น มีรายละเอียดมากขึ้นแต่รายละเอียดที่จำเป็นเท่านั้น เน้นส่วนสำคัญที่เกินความจริง ชอบวาดตนเอง แสดงความรู้สึกทางร่างกายมากกว่าคุณลักษณะภายนอก

5.2 สี แบ่งเป็น 2 พวก พวกแรกจะใช้สีตามความเป็นจริง (Visually Minded) ส่วนอีกพวก (Non Visually Minded) มักใช้สีตามอารมณ์ และความรู้สึกตนเอง เช่น ตอนเศร้า ตอนมีความสุข มักแสดงออกโดยเน้นความสัมพันธ์ทางอารมณ์กับโลกภายนอก นับเป็นงานแสดงออกซึ่งการสร้างสรรค์งานศิลปะ

5.3 ช่องว่าง พวก Visually Minded รู้จักเส้นระดับ รูปเริ่มมี 3 มิติ โดยการจัดขนาดวัตถุเล็กลงตามลำดับ ระยะใกล้ไกล ส่วนพวก Non Visually Minded ไม่ค่อยใช้รูป 3 มิติ ชอบวาดภาพคนและมักเขียนโดยใช้ตนเองเป็นผู้แสดง สิ่งแวดล้อมจะเขียนเมื่อจำเป็นหรือเห็นว่าสำคัญเท่านั้น

5.4 การออกแบบ พวก Visually Minded ชอบออกแบบทางสวยงาม พวก Non Visually Minded มองทางประโยชน์ อารมณ์ แต่ทั้งนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น ยังไม่เข้าใจการออกแบบอย่างจริงจัง



ำ ศิลปะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ

เด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะ เด็กบางคนมีความสามารถทางศิลปะแตกต่างจากเด็กส่วนมาก จึงได้รับการยกย่องว่าเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะ การปรากฏให้เห็นแววอัจฉริยะของเด็กเหล่านี้อาจเกิดในช่วงอายุใดก็ได้แม้แต่เมื่อยังเยาว์วัย ลักษณะการวาดของเด็กพวกนี้มักมองเห็นได้ชัดว่าดีเด่น น่าสนใจกว่าเด็กทั่ว ๆ ไป ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะของลายเส้น สี หรือ การถ่ายทอดจินตนาการ ตลอดจนความกลมกลืนของภาพ ลักษณะการวาดของเขาจะพัฒนาไปตามวัย ตามลำดับขั้นตอนเช่นเดียวกับเด็กปกติ หากแต่ระยะเวลาของพัฒนาการในแต่ละขั้นอาจใช้เวลาต่างกัน เช่น อาจอยู่ในขั้นขีดเขี่ยเพียงระยะสั้น ๆ และมักมีความสามารถในการมองเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ได้แจ่มแจ้ง

อย่างไรก็ดี การที่เด็กสามารถวาดภาพได้ดีขึ้นนั้นขึ้นกับองค์ประกอบหลายประการ เช่น ทักษะในการใช้มือ ระดับสติปัญญาทางศิลปะ ความคล่องแคล่วในการรับรู้จินตนาการสร้างสรรค์และความสามารถในการตัดสินใจในด้านสุนทรียภาพ องค์ประกอบสามประการสุดท้ายนั้นมักเป็นผลมาจากการเลี้ยงดู ดังนั้นความสามารถทางศิลปะจึงขึ้นอยู่ทั้งพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

ด้วยเหตุนี้ จึงควรระลึกไว้ด้วยว่า เด็กที่แสดงความสามารถทางศิลปะออกมาให้เห็นเด่นชัดในวัยต้น ๆ นั้นไม่จำเป็นจะต้องกลายเป็นจิตรกรหรือปฏิมากรเสมอไป ทั้งนี้เพราะว่าเด็กที่มีสติปัญญาดี และได้รับการฝึกฝนทักษะทางศิลปะอย่างดี ก็สามารถวาดภาพหรือแสดงฝีมือทางศิลปะขั้นดีได้เช่นกัน ทว่าในการวาดเพียงอย่างเดียวมิได้ทำให้คนเป็นศิลปินได้ ผู้จะเป็นศิลปินนั้นจะสามารถถ่ายทอดสิ่งรอบ ๆ ตัวของเขาออกมาในรูปของศิลปะได้เสมอโดยไม่จำเป็นต้องลอกเลียนแบบ







ำ เด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะ มักมีข้อแตกต่างจากเด็กปกติ ดังนี้

1. เด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะมีความสามารถในการสังเกต รายละเอียดของสิ่งที่จะนำมาถ่ายทอดลงภายในได้ดีกว่าเด็กปกติ และความทรงจำจากการเห็นก็ดีกว่า ดังนั้นภาพวาดของเด็กพวกนี้จึงดีกว่า ทั้งในด้านรูปร่างลักษณะ และสีที่เลือกใช้

2. เด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะมักจะนำเอาลีลาการเคลื่อนไหวของสิ่งต่าง ๆ ถ่ายทอดลงในภาพในขณะที่เด็กทั่ว ๆ ไป มักวาดภาพแข็ง ๆ ทื่อ ๆ

3. แม้ว่าทุกคนจะมีจินตนาการ แต่จินตนาการของเด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะจะมีมากกว่าปกติและเขาสามารถถ่ายทอดความนึกคิดเหล่านั้นมาเสริมต่อกับสิ่งที่เขาได้รับรู้จากสายตา

4. เด็ก ๆ ทั่วไป มักมีข้อจำกัดในการวาดภาพ คือมี Graphic Vocabulary ต่ำ จึงทำให้ไม่สามารถวาดภาพที่ต้องการได้และมักใช้ถ้อยคำมาเพิ่มเติมในภาพเพื่ออธิบายความต้องการ หรือแนวคิดของตนแต่เด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะนั้นจะสามารถถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดทั้งมวลลงในภาพได้ตามที่ต้องการ

5. เด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะจะคำนึงถึงสภาพของสิ่งต่าง ๆ ตลอดจนข้อจำกัดมากกว่าเด็กปกติซึ่งมักจะวาดไปเรื่อย ๆ ตามที่เห็นตัวอย่าง เช่น เด็กทั่วไปส่วนมากวาดภาพในลักษณะแบบให้มีเสมอกัน แต่เด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะจะคำนึงถึงพื้นผิวของภาพ การเลือกใช้สีจะสะท้อนออกมาถึงเงาหรือความลึกของภาพด้วย

6. เด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะไม่จำเป็นต้องเก่งเป็นเลิศในวิชาอื่น ๆ เขาอาจวาดรูปที่เขาสนใจได้ดีเยี่ยม เหมือนผู้ใหญ่มืออาชีพ ตั้งแต่เขายังเยาว์วัย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องทำสิ่งอื่น ๆ ได้ในระดับเดียวกันนี้

7. เด็กทุกคนจะมีการลอกเลียนแบบโดยเฉพาะในการวาดภาพตามแบบที่เขาชื่นชม เด็กที่มีพรสวรรค์ทางศิลปะก็เช่นกัน หากแต่จะมีช่วงเวลาของการเลียนแบบเพียงระยะหนึ่ง หลังจากนั้นเขาจะแสดงฝีมือตามแนวของเขา ซึ่งอาจดัดแปลงจากแบบที่เขาเคยนิยมชมชอบก็ได้

ำ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา

บางครั้งการวาดของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาก็เป็นไปทำนองเดียวกันกับการวาดภาพของเด็กปกติที่มีอายุสมองเท่ากัน โดยทั่ว ๆ ไปแล้ว ภาพวาดของเด็กพวกนี้มักไม่ได้สัดส่วนไม่มีรายละเอียด มักวาดภาพเหมือน ๆ กัน ซ้ำ ๆ กัน และชอบวาดภาพเล็ก ๆ บนกระดาษแผ่นใหญ่ ภาพที่ปรากฏจึงมักขาดสมดุล ตัวอย่างเช่น การวาดรูปคน เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา มีวาดแขนยาวมากหรือสั้นมากเกินไป การใช้สีก็ไม่เหมาะสมกับภาพที่วาด เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาโตขึ้นจะสามารถออกแบบได้ดี

พัฒนาการของเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาก็เป็นไปอย่างเชื่องช้ากว่าเด็กปกติ ในการวาดภาพเด็กพวกนี้มักไม่คำนึงถึงการเคลื่อนไหว เด็กผู้หญิงมักจะวาดรูปที่มีขนาดเล็กกว่าเด็กผู้ชาย และเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาทั้งหญิงและชายมักวาดรูปผู้ชายเล็กกว่าผู้หญิง และชอบวาดรูปเพศเดียวกับตัวเอง ให้ใหญ่กว่าด้วย

นอกจากนี้ เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญามักต้องการกระตุ้น หรือแรงจูงใจในการวาดภาพและมักแสดงให้เห็นถึงความด้อยในการแสดงความคิด และความคล่องในการใช้มือ



**************************************



ที่มา : ศาสตราจารย์ศรียา นิยมธรรม. รวมบทความเนื่องในวาระครบรอบ 30 ปี การศึกษาพิเศษ 24 ตุลาคม 2547.2547: 22.

วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

การเล่านิทานสำหรับเด็กปฐมวัย

        การเล่านิทานสำหรับเด็กปฐมวัย    
                นายแพทย์บวร งามศิริอุดม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวไว้ว่า" เชื่อว่าคุณแม่คุณพ่อแทบทุกคนในปัจจุบัน ต้องรู้จักนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกที่ชื่อว่า ไอน์ส-ไตน์ ไอน์สไตน์ มีความฉลาดทางปัญญา ( IQ) ประมาณ 180 ขณะที่คนทั่วไปมีไอคิวประมาณ 90-110 เท่านั้น เขาได้ให้ข้อคิดที่สำคัญไว้ว่า ถ้าอยากจะให้ลูกฉลาด คุณแม่คุณพ่อควรจะเล่า นิทานให้ลูกฟังเป็นประจำ และถ้าจะให้ลูกฉลาดมากยิ่งขึ้น ทำอย่างไรรู้ไหมครับ ไอน์สไตน์บอกว่า ต้องเล่า นิ ทานให้ลูกฟังหลายๆ เรื่อง คิดว่าคนที่ฉลาดเช่นนี้ พูดไว้แบบนี้ เราคงต้องเชื่อว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ "
          นิทานคือ โลกของภาษา ภาพและหนังสือที่ปรากฏบนหนังสือนิทาน คือโลกของภาษา การอ่านหนังสือให้ลูกฟังจึงมีความสำคัญมาก ต่อการพัฒนาของเด็ก เปรียบเหมือนอาหารมื้อหนึ่งของวัน เพราะเป็นอาหารสมองและอาหารใจของลูก พ่อแม่ทุกคนอยากให้เด็กรักการอ่านหนังสือ และเรียนเก่ง การทำให้เด็กรักการอ่านหนังสือไม่ยากเพราะเด็ก มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบสนุกสนาน ถ้าได้หนังสือที่ชอบและยากอ่าน
         นิทานสำหรับเด็กปฐมวัยควรเป็นหนังสือภาพสำหรับเด็ก ซึ่งหมายถึงหนังสือที่พ่อแม่อ่านให้เด็กฟัง ไม่ใช่หนังสือสำหรับเด็กอ่าน การเล่านิทานให้ลูกฟังด้วยเสียงตนเอง ใช้ภาษาที่ดี เวลาเล่า ความรู้สึกของผู้เล่าจะผ่านไปสู่ตัวลูกด้วย ถ้าผู้เล่านิทานรู้สึกตื่นเต้น ลูกก็จะรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย ความรู้สึกร่วมกันระหว่างพ่อแม่และเด็กระหว่างการเล่านิทาน จึงเปรียบเสมือนสายใยผูกพันระหว่างพ่อแม่ลูก การเล่านิทานแม้เพียง 5 - 10 นาทีต่อเล่ม แต่ผลที่มีต่อลูกและความสุขในครอบครัวนั้นมหาศาล ลูกจะได้รับการพัฒนาทักษะการฟังและการพูด สร้างจินตนาการแก่เด็ก ฝึกสมาธิให้เด็กรู้จักสำรวจจให้จดจ่ออยู่กับเรื่องที่ฟัง ซึ่งเป็นพื้นฐานการเตรียมความพร้อม ด้านการอ่านหนังสือ และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็กไปพร้อมกัน
           นิทานสำหรับเด็กปฐมวัย
       ความเหมาะสมของนิทานสำหรับเด็กปฐมวัยจำเป็นต้องคำนึงถึงความสนใจ การรับรู้และความสามารถตามวัยของเด็ก เป็นสำคัญ จึงยังเกิดประโยชน์ที่แท้จริงต่อการเรียนรู้ของเด็ก เด็กจะเริ่มรับรู้นิทาน จากภาพที่มองเห็นและเสียงที่ได้ยิน โดยรู้ความหมายไปทีละเล็กทีละน้อย จนสามารถเชื่อมโยงภาพ และคำบอกเล่าที่ได้ยิน ตลอดจนจดจำเนื้อหาและเรื่องราวต่างๆ ที่นำไปสู่การอ่านตัวหนังสือได้อย่างมีความหมายต่อไป




         เด็กอายุ 0 - 1 ป
               นิทานที่เหมาะสมในวัยนี้ ควรเป็นหนังสือภาพที่เป็นภาพเหมือนรูปสัตว์ ผัก ผลไม้ สิ่งของในชีวิตประจำวัน และเขียนเหมือนภาพของจริง มีสีสวยงาม ขนาดใหญ่ชัดเจน เป็นภาพเดี่ยวๆที่มีชีวิตชีวา ไม่ควรมีภาพหลัง หรือส่วนประกอบภาพที่รกรุงรัง รูปเล่มอาจทำด้วยผ้าหรือพลาสติก หนานุ่มให้เด็กหยิบเล่นได้
                เวลาเด็กดูหนังสือภาพ พ่อแม่ควรชี้ชวนให้ดูด้วยความรัก เด็กจะตอบสนองความรักของพ่อแม่ด้วยการแสดงความพอใจ ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและหนังสือภาพจึงส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกด้วย
               เด็กอายุ 2 - 3 ป
              เด็กแต่ละคนจะเริ่มชอบต่างกัน แล้วแต่สภาพแวดล้อมที่ถูกเลี้ยงดู การเลือกหนังสือนิทานที่เหมาะกับเด็กวัยนี้ ควรเป็นหนังสือนิทาน หรือหนังสือภาพที่เด็กสนใจ ไม่ควรบังคับให้เด็กดูแต่หนังสือที่พ่อแม่ต้องการให้อ่าน หนังสือที่เหมาะสม ควรเป็นภาพเกี่ยวกับชีวิตประจำวัน สัตว์ สิ่งของ    เด็กเล็กในช่วงนี้ มีประสาทสัมผัสทางหูดีมาก หากมีประสบการณ์ด้านภาษา และเสียงที่ดีในวัยนี้ เด็กจะสามารถพัฒนาศักยภาพด้านภาษาและดนตรีได้ดี โดยเฉพาะช่วงอายุ 2 - 4 ปี เด็กมีความสนใจเสียงและภาษาที่มีจังหวะ เด็กบางคนจำหนังสือที่ชอบได้ทั้งเล่ม จำได้ทุกหน้า ทุกตัวอักษร เหมือนอ่านหนังสือออก เด็กอายุ 3 ปี มีจินตนาการสร้างสรรค์ อยากรู้อยากเห็น เข้าใจเรื่องเล่าง่ายๆ ชอบเรื่องซ้ำไปซ้ำมา ดังนั้น หากเด็กมีประสบการณ์ที่ดีในช่วงเวลานี้ จะเป็นพื้นฐานในการสร้างนิสัยรักการอ่าน ของเด็กในอนาคต
                                                เด็กอายุ 4 - 5 ปี
                เด็กวัยนี้มีจินตนาการสร้างสรรค์ อยากรู้อยากเห็นสิ่งรอบตัวเกี่ยวกับธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมว่าสิ่งนี้มาจากไหน ทำไมจึงเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ เริ่มเข้าใจความแตกต่างระหว่างความจริงกับเรื่องสมมุติ นิทานที่เหมาะสมกับเด็กวัยนี้ควรเป็นนิทานที่เป็นเรื่องที่ยาวขึ้น แต่เข้าใจง่าย ส่งเสริมจินตนาการ และอิงความจริงอยู่บ้าง เนื้อเรื่องสนุกสนานน่าติดตาม มีภาพประกอบที่มีสีสรรสดใสสวยงาม มีตัวอักษรบรรยายเนื้อเรื่องไม่มากเกินไป และมีขนาดใหญ่พอสมควรใช้ภาษาง่ายๆ การอ่านนิทานให้เด็กฟัง พร้อมกับชี้ชวนให้เด็กดูภาพ ในหนังสือประกอบ จะเป็นการสร้างจินตนาการ สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของพลังเรียนรู้จากการอ่านหนังสือ
                 หากเด็กพบว่าเด็กชอบหนังสือเล่มใดเป็นพิเศษ ก็จะให้พ่อแม่อ่านซ้ำไปมาทุกวันไม่เบื่อ ดังนั้นพ่อแม่ควรอดทนเพื่อลูก เด็กบางคนจำข้อความในหนังสือได้ทุกคำ แม้ว่าจะมีคำบรรยายยาว ได้ทั้งเล่ม ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากต่อพัฒนาการด้านภาษาของเด็ก


    หลักการเลือกนิทานที่เหมาะกับเด็กปฐมวัย             • เหมาะสมกับวัย : เด็กในแต่ละวัยจะมีความสนใจฟังเรื่องราวต่างๆ แตกต่างกันไปตามความสามารถในการรับรู้ และประสบการณ์ที่ได้รับ นิทานที่เหมาะสมกับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรเป็นหนังสือภาพ สมุดภาพ หนังสือภาพผสมคำ นิทานที่มีบทร้อยกรอง ในขณะที่นิทานที่เหมาะกับเด็กอายุ 3 ปีขึ้นไป ควรเป็นนิทานที่มีเรื่องราวที่เกี่ยวกับธรรมชาติ นิทานเรื่องเล่าที่ให้ข้อคิด
        • ประโยชน์ที่เด็กจะได้รับ : การเลือกหนังสือต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่เด็กจะได้รับ ในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กด้วย เช่น สอนให้รู้จักคำเรียกชื่อสิ่งของต่างๆ เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกพัฒนาความคิด จินตนาการ ให้ความรู้สึกที่ดีต่อเด็ก มีความตลกขบขันให้ความสนุกสนาน ช่วยแก้ปัญหาให้กับตัวเด็ก เมื่อเปรียบเทียบตนเองกับตัวละคร เป็นต้น การอ่านเรื่องราว หรือเนื้อหาทั้งเล่มก่อนตัดสินใจเลือก จึงเป็นสิ่งสำคัญ             • เนื้อหาและลักษณะรูปเล่ม : นิทานหรือหนังสือที่ดีสำหรับเด็กปฐมวัยควรเป็นเรื่องสั้นๆง่ายๆ และไม่ซับซ้อน มีจุดเด่นของเนื่องจุดเดียว เด็กดูภาพหรือฟังเรื่องราวเข้าใจได้ และสนุกสนาน มีเนื้อเรื่องที่ชัดเจน ชวนติดตาม เป็นเรื่องที่เกี่นวกับตัวเด็ก และใกล้ชิดตัวเด็ก หรือธรรมชาติแวดล้อม ไม่มีการบรรยายเนื้อเรื่อง ควรมีลักษณะเป็นบทสนทนาโต้ตอบระหว่างตัวละคร ใ้ช้ภาษาที่ถูกต้อง ง่ายต่อความเข้าใจของเด็ก ตัวอักษรมีขนาดใหญ่ ใช้สีเข้มอ่านได้ชัดเจน มีภาพประกอบที่สอดคล้องกับเนื้อเรื่อง เป็นภาพที่มีสีสันสวยงามมีชีวิตชีวา ส่วนใหย๋จะเป็นภาพเขียนหรือวาดมากกว่าภาพถ่าย มีรูปเล่มที่แข็งแรงทนทาน ขนาดพอเหมาะกับมือเด็ก ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมเสมอไป และมีจำนวนหน้าประมาณ 10-20 หน้า
              วิธีการเล่านิทานหรือเรื่องราวสำหรับเด็ก     เมื่อเลือกนิทานหรือเรื่องราวที่เหมาะสมกับวัยของเด็กได้แล้ว วิธีการเล่านิทานหรือเรื่องราว เพื่อให้เด็กเกิดความสนใจ ติดตามฟังเนื้อเรื่องจนจบ จำเป็นต้องทำให้เหมาะสมกับเรื่องที่จเล่าด้วย การเล่านิทานที่นิยมมี 2 วิธี ดังนี้
     1. การเล่าเรื่องปากเปล่า ไม่มีอุปกรณ์ : เป็นการเล่านิทานด้วยการบอกเล่าด้วยน้ำเสียงและลีลาของผู้เล่า ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
• การขึ้นต้นเรื่องที่จะเล่า ควรดึงดูดความสนใจเด็ก โดยค่อยเริ่มเล่าด้วยเสียงชัดเจน ลีลาของการเล่าช้าๆ และเริ่มเร็วขึ้น จนเป็นการเล่าด้วยจังหวะปกติ
• เสียงที่ใช้ควรดัง และเป็นประโยคสั้นๆได้ใจความ การเล่าดำเนินไปอย่างราบรื่น ไม่ควรเว้นจังหวะการเล่านิทานให้นาน จะทำให้เด็กเบื่อ อีกทั้งไม่ควรมีคำถาม หรือคำพูดอื่นๆที่เป็นการขัดจังหวะ ทำให้เด็กหมดสนุก
• การใช้น้ำเสียง สีหน้า ท่าทาง แสดงให้สอดคล้องกับลักษณะของตัวละคร ไม่ควรพูดเนือยๆ เรื่อยๆ เพราะทำให้ขาดความตื่นเต้น
• อุ้มเด็กวางบนตัก โอบกอดเด็กขณะเล่า หรือถ้าเล่าให้เด็กหลายคนฟัง อาจจะนั่งเก้าอี้ให้เหมาะสมกับสายตาเด็ก
• ใช้เวลาในการเล่าไม่ควรเกิน 15 นาที เพราะเด็กมีความสนใจในช่วงเวลาสั้น
• ให้โอกาสเด็กซักถาม แสดงความคิดเห็น
    2. การเล่าเรื่องโดยมีอุปกรณ์ช่วย เช่น สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กเช่น สัตว์ พืช , วัสดุเหลือใช้เช่น กล่องกระดาษ กิ่งไม้,ภาพ เช่นภาพพลิก หรือภาพแผ่นเดียว ,หุ่นจำลอง ทำเป็นละครหุ่นมือ, หน้ากากทำเป็นรูปละคร ,นิ้วมือประกอบการเล่าเรื่อง


ที่มา  : http://www.sk-hospital.com/~ob/parent_school/nitan.htm