วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ปั้นลูกให้อัจฉริยะ

ปั้นลูกให้อัจฉริยะ

อยากให้ลูกอัจฉริยะ คงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ พ่อแม่จำต้องทุ่มเท ทั้งกำลังกายและใจ เพื่อลูกรัก เพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศ ทางปัญญา รวมถึงความเป็นมนุษย์ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ รักเสียงเพลง รักธรรมชาติ เอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ แล้วเราจะปั้นลูกให้สมบูรณ์แบบ ได้จริงหรือ เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ มีเรื่องเล่า

หากพ่อแม่ไม่รู้วิธีการเลี้ยงลูกให้ถูกทาง ไม่เข้าใจการพัฒนาแต่ละช่วงวัย หนทางความเป็นอัจฉริยะในการพัฒนา อาจเปรียบเสมือนดาบสองคม เพราะความคาดหวังได้เข้ามาสร้างความกดดัน ก่อให้เกิดความเครียดแก่เด็กๆ จนกลายเป็นว่า เด็กไม่มีความสุขในชีวิต

การสร้างสรรค์เด็กอัจฉริยะแนวทางใหม่ไม่ได้ให้ความสำคัญแค่ไอคิว ยังรวมถึงการพัฒนาด้านจิตใจควบคู่ไปด้วย เด็กฉลาดจะต้องเรียนรู้ความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ ความเข้าใจผู้อื่น และอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างกลมกลืน

เด็กจะไปสู่ความเป็นเลิศและดีได้ จำต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสมองหลายๆ ด้าน...

ความลี้ลับของสมอง

สมองมนุษย์มีความซับซ้อน ไม่ต่างจากอารมณ์มนุษย์เลยทีเดียว แม้ตำรับตำราเรื่องสมองอันลี้ลับจะออกมามากมายนับไม่ถ้วน หลายคนต่างรู้ว่า การเลี้ยงดูให้ความรักเอาใจใส่ตั้งแต่แรกเกิดเป็นเรื่องสำคัญ แต่พ่อแม่หลายต่อหลายคนก็ไม่รู้วิธีการรับมือกับลูกตัวเล็กๆ หรือวัยรุ่น

?ปัญหาหลัก คือ ครอบครัวขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูลูก เพื่อพัฒนาสมองอย่างถูกต้อง เราก็พยายามให้ข้อมูลด้านนี้ เพราะเด็กแต่ละวัยจะไม่เหมือนกัน? รศ.พญ.ศันสนีย์ ฉัตรคุปต์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและจิตเวชเด็ก ผู้อำนวยการสถาบันสร้างสรรค์ศักยภาพสมอง ครีเอทีฟเบรน เล่าให้ฟัง เพื่อโยงให้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาสมอง

หลายคนต่างรู้ดีว่า มนุษย์มีศักยภาพมากมาย แต่นำมาใช้ในชีวิตได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์? แล้วทำไมเป็นเช่นนั้น เพราะมนุษย์ไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาสมองตัวเอง หรือพูดง่ายๆ ปล่อยชีวิตตามยถากรรม

แม้ความฉลาดบางส่วน จะขึ้นอยู่กับพันธุกรรม แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ หากครอบครัวเข้าใจให้การเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม และให้โอกาสเด็กๆ ได้เรียนรู้ตามศักยภาพ แม้บางครอบครัวจะไม่ได้ร่ำรวย ลูกๆ ก็สามารถเป็นเด็กฉลาดได้เพียงแค่สองมือพ่อและแม่ ค่อยๆ ช่วยกันปั้น

ก็เพราะมนุษย์สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม หากมนุษย์ไม่ยอมจำนงต่อสภาพสังคม กล้าเดินออกนอกกรอบ กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองฝัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมาจากรากฐานที่แข็งแรงในวัยเด็ก

การพัฒนาตั้งแต่เยาว์วัย จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เด็กๆ สามารถเรียนรู้สิ่งรอบตัวได้ง่ายและรวดเร็ว โดยพ่อแม่ต้องคอยสังเกต ลองให้ทำกิจกรรมหลายๆ รูปแบบ แล้วดูว่า เด็กชอบอะไรเป็นพิเศษ

มาลองพิจารณา...ความสำคัญของสมองซึ่งประกอบไปด้วยเซลล์กว่า 1 แสนล้านเซลล์ แต่ละเซลล์จะมีส่วนยื่นเป็นเส้นใย สมองแตกแขนงมากมายเป็นพันๆ เส้นใยเชื่อมต่อกับเซลล์สมองอื่นๆ เส้นใยสมองพวกนี้เรียกว่า แอกซอน (axon) และเดนไดรท์ (dendrite) โดยมีจุดเชื่อมต่อใยสมอง เรียกว่า ซีนแนปส์ (synapses)

การเชื่อมต่อโยงใยของสมองกับส่วนต่างๆ คือ ความมหัศจรรย์ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ สมองบางส่วนยังมีหน้าที่เก็บรวบรวมความจำทั้งระยะสั้น และระยะยาว โดยมนุษย์สามารถเรียนรู้เรื่องราวมากมายในช่วงแรกเกิดจนถึง 4 ขวบ จากนั้นการเรียนรู้เรื่องราวอื่นๆ จะดำเนินต่อไปในลักษณะของการพัฒนาจากข้อมูลที่เป็นแก่นแกนนั้นๆ

?เด็กเกิดมาโดยมีรากเหง้าแห่งความเป็นอัจฉริยะอยู่ในตัวทุกคน ถ้าสภาวะของสมองเป็นปกติ ไม่มีการเสียหาย หรือถูกทำลาย? โทนี บูซาน นักจิตวิทยาชาวอังกฤษ เล่าไว้อย่างน่าสนใจ

นักจิตวิทยาคนนี้ เห็นว่า ถ้าให้เด็กฝึกฝนพัฒนาประสบการณ์ ตั้งแต่ต้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยให้เด็กฝึกฝนทักษะต่างๆ มากเท่าที่เขาต้องการ ด้วยสภาพร่างกายที่เป็นอิสระมากที่สุด ทั้งมือและเท้าเป็นอิสระ สามารถคลานหรือเคลื่อนไหวปีนป่ายได้มากๆ ปล่อยให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก

นั่นแหละได้กระตุ้นสมองเด็ก เพื่อนำไปสู่ความเป็นอัจฉริยะ เพราะช่วงวัยนั้นๆ สมองควรได้รับการกระตุ้นเต็มที่เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ แต่กลายเป็นว่า ช่วงวัยดังกล่าวถูกเลี้ยงดูตามมีตามเกิด ทั้งๆ ที่ช่วงอายุ 0-3 เดือน สมองของเด็กกำลังพัฒนาสร้างใยประสาทจำนวนมหาศาล ยิ่งมีใยประสาทมาก ยิ่งมีความฉลาด

คุณหมอศันสนีย์ บอกว่า ถ้าเด็กได้รับข้อมูลจากโลกภายนอก มีการกระตุ้นได้เห็น ได้ยินเสียง จะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าในใยประสาท แต่ถ้าไม่มีการกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ใยประสาทก็ไม่มีข้อมูล พอเด็กโตขึ้นเรื่อยๆ ใยประสาทก็จะค่อยๆ สลายตัว เพราะสมองมีใยประสาทน้อยสติปัญญาก็จะไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร

?จริงๆ แล้ว พื้นฐานการเลี้ยงลูกให้เป็นอัจฉริยะ ควรเริ่มตั้งแต่ในท้องแม่ ดูแลตั้งแต่เรื่องอาหารและจิตใจของแม่ เรื่องนี้สำคัญมาก อย่างคุณแม่คนหนึ่งเลี้ยงลูกโดยไม่ให้ดูทีวีเลย เธอจะพูดคุยกับลูกตลอดเวลา พออายุลูกได้ 2 ปีให้ดูวิดีโอสอนภาษาอังกฤษเพียงวันละ 15 นาที เวลาพาลูกไปไหน คุณแม่ก็จะชี้ชวนให้ลูกดูนั่น ดูนี่ คุณแม่รายนี้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกตลอดเวลา เด็กก็พูดภาษาอังกฤษได้ และมีงานวิจัยบางส่วนเขียนไว้ว่า การที่คุณแม่มีปฏิสัมพันธ์กับลูก เด็กจะฉลาด ได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ รวมถึงเรื่องจริยธรรมด้วย?

อัจฉริยะเริ่มตั้งแต่ทารก

การพัฒนาให้เด็กฉลาดตามขั้นตอน ไม่จำเป็นต้องยัดเยียดความรู้ ควรให้เรียนรู้ในช่วงวัยอันเหมาะสม เด็กแรกเกิดจนถึง 4 ปี ควรปล่อยให้เรียนรู้ตามธรรมชาติ โดยมีพ่อแม่ช่วยกระตุ้นพัฒนาสมอง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตที่หลายคนอาจมองข้าม

?จริงๆ แล้วไอคิว หรือความฉลาดสร้างได้ แต่ฉลาดอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีบุคลิกภาพและมนุษยสัมพันธ์ แก้ปัญหาได้ และต่อสู้กับอุปสรรคในชีวิตได้ เป็นที่รู้กันว่า ความฉลาดก็มีหลายด้าน ทั้งเรื่องความคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ดนตรี ศิลปะ?

ความฉลาดสร้างได้ในความหมายของคุณหมออารมณ์ดี ก็คือ เด็กปกติก็สามารถพัฒนาให้ฉลาด หรือเด็กอัจฉริยะอยู่แล้ว ก็ควรได้รับการส่งเสริมกระตุ้นให้เรียนรู้มากขึ้น

คุณหมอยกตัวอย่างเด็กวัย 4 เดือนแรก จะสามารถมองเห็นได้ระยะสั้นๆ เพียง 6-12 นิ้ว เวลาคุณแม่ให้นมลูกมักจะอุ้มไว้ทางซ้ายมือ เพราะหัวใจคุณแม่อยู่ด้านซ้าย การที่ลูกได้ยิน ได้ฟัง การเต้นของหัวใจแม่ ก็เป็นสัญชาตญาณแสดงความรักความอบอุ่น ยิ่งเวลาให้นมลูกคุณแม่ควรจ้องตาลูกแล้วยิ้ม สายตาลูกก็จะเบิกบานตามไปด้วย

"การได้เห็น ได้ฟังเสียงหัวใจแม่ เด็กได้สัมผัสไออุ่นจากแม่ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นสมองในการสร้างใยประสาทในช่วงวัยแรกๆ ของชีวิต อย่างเด็กสองขวบ เริ่มเรียนรู้ภาษา เราต้องเลือกโปรแกรมดูทีวีให้ลูกๆ ถ้าจะให้ลูกๆ ดูทีวีควรสอนไปด้วย ไม่ควรปล่อยเด็กไว้กับทีวี ถ้าเลี้ยงมาดี ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 3-4 ขวบ พอเด็กเข้าโรงเรียน ก็จะต่อยอดได้เลย?

กระบวนการเลี้ยงลูกให้ฉลาด จำต้องเข้าใจวิธีการสัมผัสกระตุ้นเด็กอย่างถูกวิธี ไม่ต้องดูอื่นไกลเสียงพูดของคุณแม่ หรือคนรอบข้าง ก็สามารถทำให้ก้านใยประสาทของเด็กทำงานเก็บข้อมูลเรียนรู้ไว้ในสมอง เด็กจะจำใบหน้าและกลิ่นของแม่ได้เสมอ

เรื่องง่ายๆ ที่คุณแม่บางคนอาจละเลย บางครอบครัวพยายามบังคับให้เด็กเขียนตัวหนังสือในช่วงวัยที่ไม่เหมาะ อย่างเด็กอายุ 2-3 ปียังไม่สามารถบังคับมือได้ ซึ่งบางครั้งพ่อแม่ไม่เข้าใจ อยากให้เรียนรู้เร็วๆ จึงก่อให้เกิดความเครียดกับเด็กๆ

?พ่อแม่บางคนไม่เข้าใจลูก ลูกถามนั่น ถามนี่ ก็ไม่อธิบาย ไม่ตอบลูก ทั้งๆ ที่ลูกกำลังเรียนรู้ เรื่องแบบนี้ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจด้วยภาษาง่ายๆ ถ้าไม่บอกเด็ก เด็กก็ไม่รู้ หรืออาจใช้วิธีการตั้งคำถามกระตุ้นให้เด็กคิด? คุณหมอ ย้ำถึงวิธีการกระตุ้นสมอง

รู้ไหม...ลูกอัจฉริยะ

บางคนอาจไม่รู้ว่า ลูกเป็นอัจฉริยะ จึงไม่ได้รับการส่งเสริมให้เรียนรู้ตามความสนใจของเขา การตรวจไอคิวก็เป็นส่วนหนึ่ง เพื่อจะได้รู้ว่า เด็กมีความฉลาดหรือไม่ เด็กอัจฉริยะมักมีไอคิวมากกว่า 100 ซึ่งพ่อแม่หรือคุณครูบางคนอาจไม่เข้าใจความอัจฉริยะของเด็ก กลายเป็นว่าเด็กมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับสังคม

ยกตัวอย่างเด็กไอคิวสูงสองคน คุณแม่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ เพราะเกรงว่า เด็กจะมีปัญหาในการอยู่ร่วมกับสังคม เธออยากให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กปกติทั่วไป

เธอเล่าถึงลูกสาววัย 5 ขวบ และ 3 ขวบ คนโตชอบวาดรูปและดนตรี เราก็สนับสนุนด้านนี้ ลูกสาวคนโตความจำดีมาก แค่เห็นรุ่นพี่เล่นเกมครั้งเดียว ก็กลับมาเล่นที่บ้านได้ หรือเพลงเก่าๆ ที่เขาได้ยินเวลาคุณยายเปิดให้ฟังไม่กี่ครั้ง ก็สามารถร้องตามได้เลย

?ลูกสาวคนโต แค่ได้ฟังคนอื่นเล่าเรื่องครั้งหรือสองครั้งก็จำได้ หรือน้องคนเล็กจะบวกเลขสองหลักได้ทันที เคยพาลูกมาให้คุณหมอทดสอบไอคิว คุณหมอบอกให้ลูกเขียนอะไรก็ได้ในกระดาษ ลูกก็เขียนคำพูดที่คุณหมอพูดไปแล้ว หรือคุณหมอบอกให้บวกเลข ลูกคนเล็กจะขอตั้งโจทย์เอง เวลาไปไหนด้วยกัน ถ้าคุณแม่มีเวลา ลูกก็จะให้คุณแม่ตั้งโจทย์เลขให้ แต่คนเล็กจะแปลก คือ ไม่ชอบเล่นกับเด็กวัยเดียวกัน?

ระหว่างการพูดคุย เด็กทั้งสองกำลังวิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน คุณแม่เล่าต่อว่า ลูกสาวสองคนส่อแววอัจฉริยะ ลูกคนเล็กจะอ่านหนังสือได้แล้ว เราจะไม่เลี้ยงตามใจเกินไป จะไม่ดุลูกเราจะพูดคุยด้วยเหตุผล ถ้าลูกไม่ฟัง ร้องไห้ก็จะเดินหนี ถ้าลูกทำผิด จะตีลูกในบางครั้ง และบอกเหตุผลว่า ตีเขาเพราะอะไร ไม่อยากให้ลูกเอาไปคิดมาก

คุณหมอศันสนีย์ เล่าถึงเด็กอัจฉริยะรายอื่นๆ ให้ฟังว่า บางคนพอรู้ว่าเป็นเด็กอัจฉริยะ มักจะมีความคาดหวัง เราอยากให้เด็กอยู่ร่วมกับสังคมอย่างปกติ เพราะคุณครูบางคน พอรู้ว่าเป็นเด็กอัจฉริยะ มักจะไม่ค่อยกล้าสอน เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก

?เด็กบางคนมีความเป็นอัจฉริยะ แต่พ่อแม่ไม่เข้าใจ จึงไม่มีโอกาสในการเรียนรู้ พ่อแม่สมัยนี้ชอบปล่อยลูกไว้กับทีวี หรือวิดีโอ เด็กอัจฉริยะบางคนเบื่อโรงเรียน พอมาตรวจสอบและพูดคุย คุณหมอก็เลยรู้ว่า เด็กบางคนไม่อยากไปโรงเรียน เพราะไม่อยากแค่ลากเส้นต่อจุด กิจกรรมแบบนี้เด็กทำได้แล้ว เขาอยากทำอย่างอื่นมากกว่า?

ยิ่งปัจจุบันมีงานวิจัย เผยว่า เด็กไทยส่วนใหญ่ไอคิวต่ำ คุณหมออธิบายถึงสาเหตุ เพราะครอบครัวไม่เข้าใจการพัฒนาสมองและอารมณ์ รวมถึงกระบวนการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน ไม่ได้ช่วยให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์ เด็กๆ ถูกสอนให้จำเหมือนซีดี-รอม เขามีข้อมูลจำนวนมากแต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้ เด็กๆ วิเคราะห์ไม่เป็น ทั้งๆ ที่เด็กไทยมียีนดีๆ อยู่ในตัว แต่ขาดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

?บางคนไม่รู้ว่า การทิ้งลูกไว้กับทีวีทั้งวัน โดยไม่พูดคุย หรือกระตุ้นลูกเลยจะมีผลต่อไอคิว หมอคิดว่าพ่อแม่ยังขาดความเข้าใจเรื่องนี้ พ่อแม่รักลูกทุกคน แต่ไม่รู้จะเลี้ยงลูกอย่างไร ถ้ารู้คงไม่ทำแบบนี้ ปัญหาคือ ไม่มีความรู้ หมออยากยกตัวอย่าง เด็กคนหนึ่งอายุ 4 ขวบเรียนอิเล็กโทนไม่กี่ครั้ง ก็เล่นได้เหมือนมืออาชีพ แบบนี้เรียกพรสวรรค์

หมอคิดว่า ควรให้เขาทำในสิ่งที่เขาชอบ ไม่ควรกดดันเด็ก ถ้าเด็กถูกกดดัน จะไม่มีความสุข อีกอย่างเด็กอัจฉริยะไม่ได้จำกัดเฉพาะพ่อแม่ที่มีคนมีฐานะ หมอเคยเจอเด็กชนบทอายุ 2-3 ปี คุณแม่คุณพ่อไม่ได้สนับสนุนเท่าไหร่ แต่อ่านภาษาอังกฤษได้หมด ที่สำคัญคือ เห็นแววแล้วต้องรีบส่งเสริมและให้โอกาส"

โอกาสง่ายๆ ในการสนับสนุนเมื่อเห็นแววฉลาดทางดนตรีของลูก คุณหมออธิบายว่า ถ้าพ่อแม่มีรายได้จำกัด อาจให้ลูกเล่นดนตรีพื้นบ้าน ถ้าเป็นเด็กเล็กก็ใช้วิธีหาอุปกรณ์ในครัวเรือนง่ายๆ มาทำเสียงดนตรีให้เล่น ไม่ต้องซื้อหาเครื่องดนตรีราคาแพงๆ ก็ได้

ไม่ต้องดูอื่นไกล งานวิจัยชิ้นหนึ่งรายงานผลการศึกษาการทำงานของสมองเด็กอัจฉริยะทางดนตรีกับสมองเด็กทั่วไป ใช้วิธีศึกษาการไหลเวียนของเลือดที่หล่อเลี้ยงสมอง ให้นักดนตรีอัจฉริยะบรรเลงตามอารมณ์ของเพลง โดยไม่ใช้นิ้วแตะเครื่องดนตรีเลย หลังจากถ่ายรูปสมองออกมา ปรากฏว่า สมองส่วนที่สั่งให้นิ้วขยับกับสมองส่วนการได้ยินเสียงเพลงมีเลือดไหลเวียนทั้งสองส่วน

ต่างจากสมองของนักดนตรีธรรมดาๆ สมองส่วนที่สั่งให้นิ้วขยับ เลือดมีการไหลเวียน แต่เลือดไม่ได้ไหลเวียนในสมองส่วนการได้ยินเสียงเพลง เพราะเขาไม่ได้ยินเสียงเพลงในสมองเหมือนนักดนตรีอัจฉริยะ

เลี้ยงลูกให้ฉลาดและดี

เป็นที่น่าสังเกตว่า คนฉลาดใช่ว่าจะทำงานได้ดี บางคนมีความเก่งและฉลาดเชี่ยวชาญในบางเรื่อง แต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน หรือคนรอบข้างอาจเป็นได้ว่า ชีวิตถูกพัฒนามาเฉพาะสมองอย่างเดียว ทั้งๆ ที่การพัฒนาอารมณ์และสังคมเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่ได้รับการเหลี่ยวแล

คุณหมอศันสนีย์ บอกว่า ถ้าฉลาดและเก่งอย่างเดียว แต่เห็นแก่ตัว เข้ากับคนอื่นไม่ได้ ก็ไม่สามารถก้าวหน้าเท่าที่ควร บางคนประสบความสำเร็จ แล้วทำประโยชน์ให้สังคม โดยไม่หวังประโยชน์ใดๆ นั่นเป็นเรื่องดี

ดังนั้น ควรสอนให้เด็กรับผิดชอบงานบ้านในครอบครัวจนกลายเป็นหน้าที่ เพื่อให้เขารู้จักความรับผิดชอบส่วนอื่นๆ ในชีวิตมากกว่าตัวเอง ไม่ว่าจะการล้างจาน เก็บขยะ รดน้ำต้นไม้และให้อาหารสุนัข ฯลฯ

?ถ้าจะให้ลูกๆ ทำงานบ้าน พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่าง ชักชวนให้ทำด้วย ต้องเริ่มจากความคิดแง่บวก พอเริ่มให้เด็กรับผิดชอบบางอย่าง ถ้าเขายังเด็กมากๆ เรารู้อยู่แก่ใจว่า เด็กๆ ยังทำงานบ้านไม่ดีนัก ก็ไม่ควรตำหนิ ไม่ควรคาดหวังว่าจะทำได้ดีเหมือนผู้ใหญ่ ถึงเด็กจะทำออกมาไม่ดีก็ชมบ้าง เพื่อให้เด็กรู้จักความรับผิดชอบ ไม่ใช่พูดไปก่อนว่า ห้ามทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่บอกเหตุผลว่า ห้ามทำเพราะอะไร ถ้าติเด็กมากๆ เด็กจะไม่ค่อยอยากทำอะไรเลย เด็กจะขาดความมั่นใจ"

ดูเหมือนว่า การปรับพฤติกรรมเพื่อให้เข้ากับสังคม มีความรับผิดชอบส่วนอื่นๆ ในครอบครัว กลายเป็นรายละเอียดที่บางครอบครัวมองข้าม บางครอบครัวให้เด็กๆ มีหน้าที่เรียนหนังสืออย่างเดียว หากไม่สอนให้รู้จักชีวิตหลายๆ ด้าน ถ้าฉลาดอย่างเดียว เขามักจะนึกว่า ตัวเองเลิศกว่าคนอื่น และเติบโตเป็นเด็กที่คิดว่า ตัวเองเก่ง ไม่ฟังความคิดเห็นคนอื่น ดูถูกคนอื่น พฤติกรรมที่แสดงออกมาก็ไม่น่ารัก ไม่มีใครอยากเข้าใกล้

?ในห้องเรียน หมอไม่อยากให้จัดอันดับว่า ใครได้ที่หนึ่ง หรืออันดับสุดท้าย จริงๆ แล้วเรื่องการวัดคะแนนก็ควรมี เราควรให้คนเรียนเก่งช่วยเหลือคนเรียนอ่อน และควรมีคะแนนมนุษยสัมพันธ์ ส่วนการติวเพื่อสอบอย่างเดียว หมอไม่เห็นด้วย เพราะเท่าที่เห็นคนที่มีความสามารถ ส่วนใหญ่มักเป็นพวกนอกกรอบ?

การคิดนอกกรอบ นั่นไม่ได้หมายถึงว่า เขาผิดปกติจากเด็กคนอื่นๆ ในเมื่อมนุษย์สามารถคิดต่าง คิดแปลก และคิดหลุดโลกได้ เพียงแต่เขาต้องคิดอย่างสร้างสรรค์

?บางครั้งต้องให้เด็กคิดออกนอกตำราบ้าง คุณครูควรเอาสถานการณ์จริงในปัจจุบันมาพูดคุยให้เด็กวิเคราะห์ ไม่ใช่ให้แค่ความรู้ในกรอบ เพราะโลกเดี๋ยวนี้ไปถึงไหนแล้ว?

เด็กจะฉลาดและดีได้ มีหลายปัจจัยที่สำคัญทั้งพื้นฐานครอบครัว ระบบการศึกษา รวมถึงสื่อเทคโนโลยีก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในสังคมบ้านเรา ยังไม่มีการจัดเรทติ้งว่า รายการไหนไม่เหมาะกับเด็ก คุณหมออยากให้สอนการวิเคราะห์การดูสื่อให้แก่เด็กๆ

"ครูและเด็กมีเวลานั่งชมหนัง ละคร การ์ตูน หรือข่าวสาร อย่างใดอย่างหนึ่งด้วยกัน จากนั้นนำเรื่องราวที่ชมมาวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งดีหรือไม่ดี ไม่เหมาะสมอย่างไร ส่วนไหนสอนจริยธรรม เด็กๆ ควรได้คิดและไตร่ตรองโดยมีผู้ใหญ่เป็นผู้ชี้แนะ"

แล้วคุณล่ะ อยากได้ลูกฉลาดแกมโกง เอาตัวรอดในสังคม หรือฉลาดและดี เข้าใจผู้อื่น หรือโง่แล้วยังอวดดี หรือ...

วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หลักการเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กปฐมวัย

หลักการเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย

การเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงปฐมวัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย มีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการและมีการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมก็จะส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็กได้อย่างดีด้วย
หลักการเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย จำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. องค์ประกอบของการเตรียมความพร้อม ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของเด็กปฐมวัย เป็นความรู้พื้นฐานของการเตรียมความพร้อมที่ยึดตัวเด็กเป็นศูนย์กลาง ซึ่งอาจแบ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ 5 อย่าง คือ
1.1 พัฒนาการ ในวัยที่แตกต่างกัน เด็กจะมีลำดับขั้นของพัฒนาการแต่ละด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา แตกต่างกัน การเตรียมความพร้อมจำเป็นจะต้องกระทำให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กตามขั้นตอนของพัฒนาการ เช่น ฝึกให้เด็กอายุ 3 ขวบ เขียนรูปสามเหลี่ยม เด็กไม่สามารถทำได้เนื่องจากการบังคับความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อนิ้วมือยังไม่ดีเท่าที่ควร การให้เด็กฝึกขีดเขียนลากเส้นตามใจชอบ จะช่วยเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมกับวุฒิภาวะและความพร้อมของเด็ก เมื่อถึงเวลาแสดงออก โดยที่ไม่จำเป็นต้องบังคับเด็กให้เปล่าประโยชน์
1.2 ระดับวุฒิภาวะ เด็กแต่ละคนมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองตามเวลาที่กำหนดโดยธรรมชาติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอัตราเร็วช้า แตกต่างกันได้ การเรียนรู้ของเด็กจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าเด็กมีระดับวุฒิภาวะที่พร้อมแสดงออก ซึ่งเด็กก็จะสามารถแสดงพฤติกรรมหรือความสามารถนั้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว เช่น การฝึกให้เด็กเขียนหนังสือในขณะที่เด็กอายุ 3 ปี ย่อมเกิดขึ้นได้ยากมากและใช้เวลานานกว่าการสอนเด็กอายุ 5 ปี
1.3 ความต้องการ การตอบสนองความต้องการพื้นฐานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก ช่วยให้การเตรียมความพร้อมของเด็กเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม เด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ได้รับอาหารที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ พร้อมทั้งได้รับความรัก ความอบอุ่นใจ และการยอมรับตนเอง จะทำให้เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆและมีกำลังใจที่จะพัฒนาตนเองยิ่งๆ ขึ้นไป
1.4 ความสนใจ ลักษณะเด่นของเด็กปฐมวัย คือ ความอยากรู้อยากเห็น ชอบตรวจค้นและสำรวจสิ่งรอบตัว ทั้งยังชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การจัดกิจกรรมและสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือกระทำ ค้นคว้า ทดลอง เรียนรู้ปนเล่นอย่างอิสระจากประสบการณ์ตรงที่ตนเองพอใจ จะช่วยสร้างเสริมความพร้อมทางการเรียนรู้แต่ละด้านได้เป็นอย่างดี
1.5 ความสามารถ เด็กทุกคนมีความสามารถเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งแตกต่างกัน ทั้งนี้จากอิทธิพลของการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและประสบการณ์ได้รับจากสภาพแวดล้อม สังเกตได้ว่า เด็กที่พ่อแม่เป็นนักดนตรี มักมีความสามารถทางดนตรีเป็นพิเศษ เด็กที่มีความบกพร่องทางสายตา มักมีความสามารถพิเศษทางการได้ยิน จำแนกเสียง การเตรียมความพร้อมได้เหมาะสมกับความสามารถของเด็ก จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านนั้นได้ดียิ่งขึ้น
2. ลักษณะของการเตรียมความพร้อม การจัดประสบการณ์เตรียมความพร้อมต้องสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทุกด้านไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นการเตรียมทักษะเบื้องต้นสำหรับการเรียนรู้ของเด็กในขั้นต่อไป คือ
2.1 ความพร้อมทางร่างกาย ได้แก่ สุขภาพอนามัย ความแข็งแรงของส่วนต่างๆทางร่างกาย สมรรถภาพการเคลื่อนไหว ความสัมพันธ์ของประสาทสัมผัส การรู้จักช่วยเหลือตนเอง
2.2 ความพร้อมทางอารมณ์และจิตใจ ได้แก่ สุขภาพจิต การรู้จักตนเอง การแสดงออกเมื่อมีความรู้สึกต่างๆ การควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
2.3 ความพร้อมทางสังคม ได้แก่ ความสัมพันธ์กับผู้อื่น การปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและสภาพแวดล้อม การยอมรับค่านิยมและกฎเกณฑ์ของสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ความรับผิดชอบ
2.4 ความพร้อมทางสติปัญญา ได้แก่ สมรรถภาพการรับรู้ ความสามารถทางการเรียนรู้ การรู้จักคิดด้วยเหตุผลและการแก้ปัญหา ความสนใจสิ่งรอบตัว ความสามารถในการสังเกตและการจดจำ การใช้ภาษาสื่อความหมาย ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
3. หลักทั่วไปของการเตรียมความพร้อม การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยจะบังเกิดผลดีและมีประสิทธิภาพเพียงใดขึ้นอยู่กับประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการเตรียมความพร้อมของเด็กอย่างเหมาะสม คือ
3.1 ธรรมชาติของเด็ก เด็กทุกคนมีแบบแผนการเจริญเติบโตโดยส่วนรวมเหมือนกัน แม้กระนั้นเด็กทุกคนก็มีความแตกต่างเฉพาะตัวอันเนื่องมาจากอิทธิพลของพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม การเตรียมความพร้อมของเด็กที่สอดคล้องกับลักษณะพฤติกรรม ระดับวุฒิภาวะ ความต้องการ ความสนใจและความสามารถของเด็กเป็นตัวบุคคลควบคู่ไปกับพัฒนาการตามวัยหรือช่วงอายุของเด็กจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ดีในการพัฒนาตนเองและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ตามศักยภาพของตน
3.2 วิธีการเรียนรู้ของเด็ก เด็กเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด หรือ
สถานการณ์ใด การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจและระดับความสามารถของเด็ก รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เด็กมีประสบการณ์ตรงหรือได้ลงมือกระทำ สัมผัส สำรวจ ค้นคว้าและทดลองสิ่งต่างๆรอบตัวจากการเล่นอย่างอิสระ หรือเล่นปนเรียนตามความพอใจของเด็ก จะทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และใฝ่รู้ด้วยตนเอง เป็นการสร้างความมั่นใจในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้ดี
3.3 แนวการจัดประสบการณ์สำหรับเด็ก ประสบการณ์ที่เด็กได้รับควรมีลักษณะบูรณาการความรู้และทักษะต่างๆ ในรูปแบบของกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการและความพร้อมทุกๆด้านของเด็กอย่างผสมผสานไปด้วยกัน โดยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สังคมและสติปัญญา ตลอดจนฝึกฝนลักษณะนิสัยและทักษะเบื้องต้นสำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อมของเด็ก
3.4 ลักษณะของกิจกรรม การเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกกิจกรรมที่มีรูปแบบหลากหลายสอดคล้องกับความต้องและความสนใจของเด็กแต่ละวัย โดยสอดแทรกการเล่นหรือเกมการศึกษา จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ง่ายและสนุกสนาน ทั้งนี้กิจกรรมควรมีความยากง่ายปะปนกัน มีระยะเวลาที่เหมาะสม และมีความสมดุลของกิจกรรมลักษณะต่างๆ เช่น กิจกรรมในร่ม-กลางแจ้ง กิจกรรมการเคลื่อนไหว-สงบ เป็นต้น
3.5 การจัดสภาพแวดล้อม เด็กทุกคนต้องการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งทางกายภาพและจิตภาพ กล่าวคือ เป็นสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากเครื่องเล่นและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตามวัย และความสนใจของเด็ก รวมทั้งเกิดความรู้สึกที่ดี อบอุ่น มั่นคง ด้วยการดูแล เอาใจใส่ แนะนำตักเตือนอย่างใกล้ชิด มีเหตุผลจากผู้ใหญ่และโอกาสที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกันกับเด็กอื่นวัยเดียวกันหรือต่างวัยอย่างสม่ำเสมอ

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

บุหงาอันดามันบ้านเพ+หมากัด

สนุก

เก่งจริงๆเลยนะตัวแค่เนี้ย

1 2 3 4 5 I love you Remix Baby Dancing เด็กเต้นน่ารักๆ

พัมนาการและการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย

พัฒนาการและการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย (2)

ตอนที่แล้วได้พูดถึงกาพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กปฐมวัย 1-2 ขวบไปแล้ว ฉบับนี้มาดูเรื่องของเด็กปฐมวัยช่วง 3-4 ขวบกันต่อเลยค่ะ
พัฒนาการของเด็กอายุ 3-4 ขวบ
ด้านร่างกาย
เด็กผู้ชาย ส่วนสูง 96-114 ซม./ น้ำหนัก 13.5-20.5 ก.ก.
เด็กผู้หญิง ส่วนสูง 94-114 ซม./ น้ำหนัก 13-20 ก.ก.
การพูด
ก่อนหน้านี้เด็กจะใช้ความรู้สึกในการแลกเปลี่ยนหรือเรียกร้องสิ่งที่ตนต้องการ แต่ต่อไปนี้ เขาจะต้องหันมาใช้ภาษากับคนอื่นๆ แทน เด็กในวัยนี้จะเข้าใจว่า คนในโลกส่วนใหญ่ใช้คำพูด เป็นเครื่องสื่อความหมาย โดยไม่ใช้การออกท่าออกทาง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการ ในทางภาษาสำหรับเด็ก
ในช่วงนี้ เด็กจะเริ่มรู้จักคำเช่น "แหลม หรือคม" หรือ "ร้อน" แต่การพูดยังขาดการเน้นเสียง และยังปะปนในเรื่องภาษากับประสบการณ์ที่ตนได้รับ
หรืออย่างการเข้าใจความหมายของคำว่า ข้างบน-ข้างล่าง, ข้างหน้า-ข้างหลัง, นำหน้า-ตามหลัง, ข้างหน้านั้น-ข้างหลังนั้น เพราะเด็กได้เรียนรู้มาจากการคลาน การโยนสิ่งของออกไป การมองกลับมาข้างหลัง การเดินไปข้างหน้า หรือการเล่นซ่อนหา โดยไม่ได้ใช้ความรู้สึก แต่เป็นการใช้ร่างกาย
เข้าใจสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกัน เช่น การกางมือกางแขนออกทำเป็นยักษ์ตัวใหญ่ หรือทำตัวหดเล็ก เหมือนหนูตัวเล็กๆ รู้จักปิดประตูเสียงดังหรือปิดอย่างแผ่วเบา เด็กจะรู้จักการเรียกชื่อและนามสกุลของตัวเอง เพราะถึงเวลาแล้วที่จะต้องรู้จักตัวเองให้ถ่องแท้
รู้จักคำพูดแสดงพหูพจน์ เพราะเด็กมีประสบการณ์กับของที่มีปริมาณมากขึ้น เช่น แท่งไม้หลายอัน แท่งไม้สองสามอัน ในช่วงนี้เด็กจะรู้จักการปฏิบัติตามอย่าง เช่น การหมุนประตู เราต้องจับที่ลูกบิดประตู แล้วหมุนเป็นวงกลมแล้วปิด-เปิดประตูได้
รู้จักการเรียบเรียงประโยค และมีความแตกฉานทางภาษามากขึ้น โดยที่เด็กจะเลียนแบบ การใช้ภาษาจากผู้เป็นพ่อเป็นแม่ โดยที่เด็กจะเลียนแบบการใช้ภาษาจากผู้เป็นพ่อเป็นแม่ หากพ่อแม่ใช้ภาษาที่ถูกต้องไพเราะ ลูกก็จะพูดได้ดีเช่นเดียวกัน แต่ถ้าพูดจาสบถสาบาน ด่าพ่อล่อแม่จนติดปาก เขาก็จะจดจำไปใช้ ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า พ่อแม่จะต้องพูดภาษาที่สมบูรณ์แบบ เหมือนภาษาเขียนเป๊ะ แต่ควรจะใช้สรรพนาม กริยา คุณศัพท์ ฯลฯ ให้ถูกต้อง เพื่อลูกจะได้คุ้นและเข้าใจง่าย
อย่างไรก็ตาม บางครั้งเด็กเล็กๆ ที่กำลังย่างเข้าสู่พัฒนาการด้านภาษา โดยเฉพาะเด็กวัย 2 ขวบครึ่ง ถึง 4 ขวบ อาจจะพูดไม่ค่อยออกและมักจะเงียบ ซึ่งอาจเป็นเพราะความคิดของเด็กเร็วกว่าความสามารถ ในการใช้คำศัพท์ แต่พ่อแม่ไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินเหตุ อาการเช่นนี้จะหายไป เมื่อสมองส่วนที่ใช้บังคับการพูดเติบโตและพัฒนาเต็มที่ คุณพ่อคุณแม่อย่าพยายามเร่งรัดอาการเงียบของลูก เพราะอาจทำให้เด็กกลายเป็นคนเงียบตลอดไปก็ได้
การอ่าน
เด็ก 3-4 ขวบ พร้อมแล้วที่จะเรียนการอ่าน โดยจะแสดงสัญญาณของความพร้อมนี้ออกมา ให้เห็นอย่างชัดเจน เช่น เขาจะรักหนังสือ ดีใจที่ได้หยิบจับและดูรูปในหนังสือ เขาจะถามถึงความหมาย ของสัญลักษณ์ สลาก หรือป้ายต่างๆ เขาอยากจะเขียนชื่อตัวเอง สนใจรูปภาพ และมีคำพูดแปลกๆ ใหม่มากเกินกว่าที่จะจดจำได้
ความชอบหนังสือนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้จะได้รับการกระตุ้นเพียงน้อยก็ตาม ถ้าเป็นไปได้พ่อแม่ควรสอนให้ลูกอ่านหนังสือ หรืออ่านให้ฟังอย่างสม่ำเสมอ เพราะการสอนให้ลูกอ่านหนังสือก่อนนอน จะช่วยให้เขาได้พักผ่อนและอยากเข้านอนด้วยความสุข และยังเป็นการสร้างนิสัยการคุยกันอย่างสันติ ซึ่งจะหาโอกาสอย่างนี้ได้ยากมากหากลูกพ้นวัยนี้ไปแล้ว
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรปล่อยให้ลูกซื้อหนังสือของตนเองเมื่อมีโอกาส แม้จะเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ บางๆ ที่มีขายตามซูเปอร์มาเก็ตก็ตาม
พัฒนาการทางสังคม
เด็กในวัยนี้จำนวนมากที่โตพอที่จะเข้าโรงเรียนได้แล้ว ซึ่งเด็กจะรู้จักการแยกจากพ่อแม่ เพราะถึงเวลาที่เขาควรมีบุคลิกภาพเป็นของตัวเองเพราะเขาโตพอจะรับทราบกฎเกณฑ์ในหมู่คณะ และสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้นๆ ได้ เช่น กลุ่มเพื่อนที่เล่นด้วยกัน แสดงว่าเด็กเรียนรู้ ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ได้
นอกจากนี้เด็กจะมีความผูกพันกับบุคคลอื่น เช่น ครูที่โรงเรียนอนุบาล หรือการติดต่อสัมพันธ์ กับเด็กคนอื่นที่อยู่ในวัยเดียวกัน
เด็กจะรู้จักคำว่า "เรา" "ของเรา" และ "ของเธอ" "ของฉัน" และ "ของพวกเขา" เพราะเด็กเริ่มเรียนรู้ที่จะแยกคนอื่นๆ จากครอบครัวของตน
การเล่น
เด็กวัย 3-4 ขวบ นี้จะสนุกสนานกับการได้ฝึกการทรงตัว เช่น การวิ่งบนทางแคบๆ ทรงตัวบนท่อนไม้ หรือกำแพงเล็กๆ เตี้ยๆ และจะมีพัฒนาการทรงตัวในการเล่นได้ดีขึ้นเป็นลำดับ จนถึงขั้นที่สามารถหัดถีบจักรยานได้
ในการเล่น เด็กมักชอบเลียนแบบจากสิ่งที่อยู่แวดล้อมตัวเอง เช่น การหุงหาอาหารด้วยถ้วย จาน ทัพพี และส้อม เหมือนกับที่แม่ทำ หรือใช้ค้อนตอกสิ่งของ เช่นเดียวกับที่พ่อทำ เด็กจะสนุกสนานกับการเอาของที่พ่อแม่ใช้มาเป็นของเล่นของตัวเอง เช่น จะสนุกกับการเล่นโทรศัพท์จริงๆ มากกว่าโทรศัพท์ที่เป็นเพียงของเล่น
เมื่ออยู่ที่โรงเรียน เด็กๆ ก็ยังคงสนุกสนานกับการเล่น "เลียนแบบ" เช่น การปั้นดินน้ำมันให้เป็นขนมชิ้นเล็กชิ้นน้อย ด้วยมือทั้งสองข้างโดยใช้อุ้งมือด้วย ไม่ได้ใช้เฉพาะนิ้วเท่านั้น
เด็กยังคงฝึกฝนการต่อแท่งไม้รูปต่างๆ เป็นการฝึกสมดุล เช่น พยายามที่จะต่ออะไรขึ้นมาสักอย่าง โดยใช้สมดุลเข้าช่วย มากกว่าที่จะเล่นของที่เป็นชิ้นเป็นอันแต่ทั้งหมดที่เด็กสร้างขึ้นนั้น ก็ขึ้นกับผู้ใหญ่ที่จะให้คำชมเชยและความคิดที่ส่งเสริม
การฉีดวัคซีน
3 ขวบ ฉีดกระตุ้นไทฟอยด์
4-6 ขวบ ฉีดกระตุ้นคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และกินป้องกันโปลิโอ (ครั้งที่ 5)
สัมพันธภาพระหว่างเด็กกับพ่อแม่
วัย 1-2 ขวบที่ผ่านมาเด็กจะให้ความสนใจตัวเองเป็นส่วนใหญ่ ครั้นถึงช่วง 3-4 ขวบนี้ เด็กจะหันกลับมาพิจารณาบทบาทของพ่อแม่มากขึ้น เช่น อาจถามคำถามแสดงความอยากรู้ว่า พ่อแม่รักตนมากเพียงใด และเด็กจะค้นพบคำที่มีความหมายแสดงถึงประสบการณ์ที่เด็กเคยได้รับ จากพ่อแม่มาก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม เด็กในวัยนี้บางคนอาจมีอารมณ์รุนแรง ฉุนเฉียว เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็อาละวาด กระทืบเท้า ขว้างปาข้าวของ ลักษณะพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงออกของความรู้สึกนึกคิดของเด็ก โดยผ่านทางพฤติกรรมทั้งสิ้น
โดยทั่วไปผู้ใหญ่มักคิดว่าเด็กไม่มีปัญหาอะไรเพราะเขายังไม่รู้จักคิดและยังไม่เข้าใจอะไรเพียงพอ วันๆ ก็ไม่รับผิดชอบไม่รับรู้อะไร ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ผิดไปจากความจริงอย่างมากทีเดียว
เด็กที่อยู่ในวัยกำลังพัฒนา เขาเรียนรู้และรับรู้อยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เขาจึงมีความรู้สึก และความคิดของเขาตามแบบเด็กๆ และสามารถรับรู้เข้ใจอะไรๆ ได้พอสมควรมากกว่าที่ผู้ใหญ่จะคาดคิด
เมื่อเด็กมีความไม่สบายใจ วิตกกังวล หรือมีความทุกข์เศร้า หรือแม้กระทั่งตื่นเต้นดีใจก็ตาม เด็กจะแสดงออกทางความรู้สึกนึกคิดโดยผ่านทางพฤติกรรมเสมอเพราะเขายังไม่สามารถ ถ่ายทอดความรู้สึกนั้นโดยการบรรยายเป็นคำพูดได้ ฉะนั้น เมื่อเด็กรู้สึกว่าตนกำลังจะสูญเสียความรัก เช่น การมีน้องใหม่ หรือรู้สึกกังวลว่าตัวกำลังจะถูกทอดทิ้ง หรือเมื่อเด็กมีความกลัวว่าจะมีอันตราย เกิดขึ้นกับเขา เช่น การเจ็บป่วย การอยู่โรงพยาบาล หรือเมื่อผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดมีความไม่สบายใจ
จากสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมา เราจะเห็นเด็กมีพฤติกรรมที่ซนมากขึ้น งอแงติดแม่ รบกวนเรียกร้องต่างๆ ดื้อขึ้น แสดงอารมณ์หงุดหงิดร้องไห้บ่อย หรือเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีต่างๆ ฉะนั้น ถ้าพ่อแม่หรือผู้ใหญ่เอาใจใส่เด็ก และสังเกตพฤติกรรมของเด็กแล้ว จะสามารถเข้าใจอารมณ์ จิตใจและความรู้สึกนึกคิดของเด็กโดยไม่ยาก และจะสามารถช่วยเหลือเด็กได้เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น
ที่สำคัญ พ่อแม่จะต้องเข้าใจด้วยว่า โดยธรรมชาติเด็กเล็กมีลักษณะของการนึกถึงตนเองเป็นใหญ่ ยังมีความอดทน รอคอย และการยับยั้งชั่งใจน้อย และยังมีความเข้าใจต่างๆ ไม่เพียงพอ ซึ่งอาการเหล่านี้จะลดน้อยลง เมื่อเด็กเข้าใจความหมายต่างๆ ได้ดีขึ้น และสามารถใช้คำพูด เป็นเครื่องแสดงออกของความปรารถนา หรือระบายความรู้สึกของตน

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

พัฒนาการของเด็กปฐมวัย

พัฒนาการของเด็กปฐมวัย PDF พิมพ์ อีเมล
เขียนโดย Administrator   
พัฒนาการของเด็กปฐมวัย
     เด็กปฐมวัยเป็นวัยที่มีความสำคัญการจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาเด็กให้บรรลุตาม จุดมุ่งหมายจึงเป็นสิ่งที่บุคลากรผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัยต้องให้ความสนใจ และเข้าใจพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็กวัยนี้ พัฒนาการของเด็กปฐมวัยมีดังนี้
    1. พัฒนาการด้านร่างกาย (Physical Development) เด็กปฐมวัยจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 3–6 ขวบ เด็กในวัยนี้มีอัตราพัฒนาการด้านร่างกายช้ากว่าตอนอยู่ในวัยทารก และเนื่องจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมีอัตราพัฒนาการแตกต่างกัน จึงทำให้เด็กปฐมวัยมีการเปลี่ยนแปลงทางสัดส่วนอย่างเห็นได้ชัด โดยเด็กวัยนี้จะมีความก้าวหน้าเกี่ยวกับพัฒนาการการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ความงุ่นง่านในวัยทารกจะหายไป การเติบโตทางสัดส่วนจะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ตามลำดับ
    2. พัฒนาการด้านอารมณ์-จิตใจ และสังคม (Emotional and Social Development) พัฒนาการด้านอารมณ์ และจิตใจเป็นความสามารถในการรู้สึกและแสดงความรู้สึกรวมทั้งความสามารถในการแยกแยะ ความลึกซึ้ง และควบคุมการแสดงออกของอารมณ์อย่างเหมาะสม เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างความรู้สึกที่ดีและนับถือต่อตนเอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านสังคมด้วย บางครั้งจึงมีการรวมพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ กับทางด้านสังคมเป็นกลุ่มเดียวกัน
    3. พัฒนาการด้านสติปัญญา (Intellectial Development) พัฒนาการด้านสติปัญญา เป็นพัฒนาการที่สำคัญอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากเด็กปฐมวัยจะอยู่ในขั้นความคิดในสิ่งที่เป็นนามธรรม การคิดเชิงเหตุผล คิดแก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์ ซึ่งต้องอาศัยการเรียนรู้ที่ผ่านการลงมือกระทำที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เช่น เรียนรู้ธรรมชาติวัตถุ จากการทำ กิจกรรมกลุ่ม กิจกรรมสำรวจ ปฏิบัติทดลอง การเรียนรู้ และแสดงความรู้สึกผ่านสื่อ วัสดุ ของเล่นและผลงานต่าง ๆ ซึ่งการอธิบายเกี่ยวกับสิ่งของและความสัมพันธ์ของวิ่งต่าง ๆ โดยเด็กได้พัฒนาทักษะการสังเกต การจำแนก เปรียบเทียบ ซึ่งเป็นกระบวนการกระตุ้นให้เด็กใช้กระบวนการคิดมากว่าเน้นความรู้ความจำเป็น
     ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการเด็ก มีดังนี้
    1. ปัจจัยด้านธรรมชาติของตัวบุคคล (organismic factor) เป็นผลโดยตรงของพันธุกรรมที่กำหนดศักยภาพ กำหนดเพศ และลักษณะแตกต่างจำเพาะบุคคล รวมถึงขั้นตอนการบรรลุวุฒิภาวะและระดับความอ่อนแอ เมื่อบุคคลนั้นถูกกระทบโดยสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
    2. ปัจจัยด้านภาวะแวดล้อมที่หล่อเลี้ยง (environmental factor) แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ
        2.1 ชีวกายภาพ ได้แก่ อาหาร ภูมิประเทศ สภาวะอากาศ สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย การเจ็บป่วย การได้รับรังสี สารเคมี และมลภาวะ เป็นต้น
        2.2 จิตสังคม วัฒนธรรม ได้แก่ การเลี้ยงดู โอกาสรับการศึกษา ลักษณะครอบครัวบิดามารดาและผู้เลี้ยงดู เศรษฐกิจ ฐานะ สภาพสังคม วัฒนธรรม การเมือง ตลอดจนระบบสาธารณูปโภค สื่อมวลชน บริการทางสังคม การศึกษา สุขภาพ และสวัสดิการที่มีอยู่ในสังคมอีกทั้ง ระยะเวลา ที่ปัจจัยต่าง ๆ กระทบต่อเด็กเป็นสิ่งสำคัญ
 

วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ทักษะการสอนศิลปะของเด็กปฐมวัย

ทักษะการสอนศิลปะของเด็กปฐมวัย

ที่มา  :  บทความจากจุลสารเพื่อนอนุบาล แผนกอนุบาล
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

ป้าลูกเกด
             ศิลปศึกษา เป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่มีความสำคัญต่อการเรียนรู้ของเด็กในวัยปฐมวัย เพราะประสบการณ์ทางศิลปะนั้น  ไม่เพียงส่งเสริมการริเริ่มสร้างสรรค์เท่านั้น  หากยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้านของเด็กในลักษณะบูรณาการ ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าการจัดประสบการณ์และกิจกรรมในลักษณะนี้มีคุณค่าและเอื้อต่อเด็กมากที่สุด  ประสบการณ์ศิลปะส่งเสริมพัฒนาการและทักษะของเด็ก ดังนี้
            - พัฒนาการทางด้านร่างกาย : พัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็ก และพัฒนาประสาทสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ
            - พัฒนาการทางด้านสังคม : มีทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น  เรียนรู้จากกันและกัน (cooperative learning)  แลกเปลี่ยนและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น   การรู้จักแบ่งปัน
            - พัฒนาการทางด้านอารมณ์-จิตใจ : สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง  (confidence) เห็นคุณค่าและภูมิใจในตนเอง (self- esteem)  การคิดดีและชื่นชมในผลงานของผู้อื่น  สร้างวินัยและความรับผิดชอบ  มีสุนทรียภาพ
            - พัฒนาการทางด้านสติปัญญา : มีความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ  รู้จักแก้ปัญหา  ทำงานแบบมีระบบ (วางแผน ตัดสินใจ และลงมือปฏิบัติ) รู้จักคิดและชี้แจงเหตุผล  สังเกต และเปรียบเทียบ ใช้สัญลักษณ์แทนวัตถุหรือประสบการณ์ในการสื่อความหมาย (ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญอย่างยิ่งในพัฒนาการทางด้านการคิดของเด็ก) มีทักษะทางด้านภาษา  ด้านคณิตศาสตร์  และด้านวิทยาศาสตร์
            คุณครูเป็นส่วนสำคัญในการจัดประสบการณ์ทางศิลปะที่ส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้านของเด็ก  ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คุณครูต้องความเข้าใจการจัดกิจกรรมและบทบาทของตน  ในการจัดประสบการณ์ศิลปะ
คุณครูควร
            1.จัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์ให้พร้อม และพอเพียงต่อความต้องการ ของนักเรียน  ในการเตรียมสถานที่นั้น  คุณครูควรจัดเนื้อที่ให้นักเรียนทำงานและเคลื่อนไหวได้สะดวก และปลอดภัย  อุปกรณ์ที่จัดให้ควรมีเพียงพอต่อนักเรียน เช่น ถ้ามีนักเรียน 5 คนที่วาดรูปด้วยสีโปสเตอร์  คุณครูควรที่จะเตรียมพู่กัน 5 อัน และจัดสี 1 ชุด ต่อนักเรียน 1-2 คน เพื่อที่เด็กจะได้ไม่ต้องรอคิวนาน  และรีบเร่งทำงานเพื่อที่จะแบ่งอุปกรณ์ให้กับเพื่อนที่รออยู่  หากในห้องเรียนมีอุปกรณ์น้อย  คุณครูควรที่จะกำหนดจำนวนนักเรียนที่จะเข้าร่วมในกิจกรรม  และใช้วิธีผลัดกัน
            2.กิจกรรมที่จัดควรเป็นกิจกรรมปลายเปิด  เช่น  ระบายสีด้วยสีเทียน และสีโปสเตอร์ตามอิสระ เพื่อที่นักเรียนจะได้เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ด้วยตนเอง  มีอิสระในการสร้างสรรค์  ใช้ความคิดได้อย่างเต็มที่  รู้จักที่จะเลือกและตัดสินใจ (เลือกว่าจะวาดอะไร) และเรียนรู้ที่จะสื่อความคิดตนออกมาในรูปแบบที่ตนต้องการ
            3.กิจกรรมที่จัดควรมีความเหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ  (Developmental Appropriate) ในการจัดกิจกรรม คุณครูควรคำนึงถึงพัฒนาการของผู้เรียน กิจกรรมศิลปะควรมีความเหมาะสมต่อความสามารถของเด็กในวัยนั้น ๆ  กิจกรรมบางอย่างถึงแม้ว่าเป็นกิจกรรมศิลปะให้เด็ก  แต่มันอาจจะไม่เหมาะกับเด็กในวัยปฐมวัย เช่น การพับกระดาษเป็นรูปต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ (origami)  จัดว่าไม่เหมาะสมสำหรับเด็กในวัยปฐมวัย  เนื่องจากมีขั้นตอนหลายขั้นและซับซ้อน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่นักเรียนต้องทำตามรูปแบบที่กำหนดขั้นโดยดูครูเป็นตัวอย่าง และนักเรียนส่วนมากไม่สามารถทำทุกขั้นตอนได้ด้วยตนเอง และต้องรับความช่วยเหลือจากครูเกือบตลอดเวลา  ซึ่งบางทีครูกลายเป็นคนพับเสียเอง การที่นักเรียนส่วนมากต้องการความช่วยเหลือตลอดกิจกรรมนั้น แสดงให้เห็นว่า พัฒนาการของเด็กยังไม่พร้อมที่เขาจะทำงานประเภทนี้ได้ 
            4.Process not  product  คุณครูควรเน้นที่กระบวนการมากกว่าผลงาน  ระหว่างที่นักเรียนทำกิจกรรมศิลปะ  เขาได้ใช้กระบวนการการคิดต่าง ๆ  เพื่อที่จะสื่อความรู้สึกนึกคิดลงบนกระดาษ  การเรียนรู้นั้นเกิดขึ้นระหว่างการทำงาน  ผลงานเป็นเพียงผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงาน 
            5.ตั้งความคาดหวังให้เข้ากับวัยของนักเรียน  เป็นเรื่องปกติที่คุณครูจะคาดหวังในนักเรียนของตน  หากแต่ความคาดหวังที่ตั้งขึ้นนั้น  ควรมีความเหมาะสมกับวัย  เช่น  เด็กวัย 3 ปี ยังเป็นช่วงเวลาที่เด็กเริ่มสนใจและเรียนรู้วิธีการใช้อุปกรณ์เครื่องเขียนต่าง ๆ   กล้ามเนื้อมือนั้นยังไม่    แข็งแรงพอ  ที่จะบังคับทิศทางของอุปกรณ์ได้อย่างคล่องแคล่วแม่นยำ การที่คุณครูคาดหวังให้เด็กในวัยนี้  ระบายสีโดยไม่ออกนอกเส้น  หรือวาดรูปเป็นรูปร่างเจาะจงนั้น  คุณครูสร้างความคาดหมายที่ไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กในวัยนั้น  ดังนั้นในการที่ครูจะรู้ว่าจะจัดกิจกรรมอย่างไรให้เหมาะสม   ครูต้องมีความเข้าใจและความรู้เรื่องพัฒนาการของผู้เรียนของตน  และมีความรู้เรื่องการจัดกิจกรรมศิลปะ เพื่อที่จะตั้งเป้าหมายและความหวังให้เข้ากับผู้เรียน
            6.ให้ความสนใจและคุณค่าต่อกระบวนการทำงานและผลงานของนักเรียน  ซึ่งทำได้โดย พูดคุยกับนักเรียน  และมีการนำเสนอผลงาน  การที่คุณครูนำเสนอผลงานของนักเรียน  โดยการติดไว้ในที่บอร์ดในห้อง บ่งบอกให้นักเรียนรับรู้ว่า  งานของเขามีคุณค่า  ซึ่งจะทำให้เขาจะรู้สึกชื่นชมและภูมิใจในความสามารถของตน  การพูดเป็นอีกวิธีหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสนใจของครูที่มีต่อการทำงานของนักเรียน  ซึ่งเฌอเม็คเคอร์ (1986) แนะนำว่าในการสนทนากับเด็ก คุณครูควรให้เด็กพูดและแสดงความคิดเห็นของตนโดยที่ครูไม่ควรที่จะเปรียบเทียบ หรือแก้ไขผลงานของเด็ก และแนะนำว่า  เวลาพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับงานศิลปะ  ครูควรพูดถึงวิธีการใช้อุปกรณ์  และการใช้องค์ประกอบทางศิลปะ (elements of art) ในการวาดภาพ เช่น การใช้สี วิธีการวาดลายเส้น รูปทรง การจัดวางช่องว่างและใช้เนื้อที่ (space) เป็นต้น  (Schirrmacher, 1986) ตัวอย่าง เช่น “ในภาพนี้ คุณครูสังเกตว่า  มีเส้นหลายชนิด มีเส้นตรงข้างบน  เส้นโค้งบนมุมขวามือ ...” “หนูใช้ความพยายามมากเลยในการตัดกระดาษให้เป็นสามเหลี่ยมอันเล็ก ๆ” “ครูสังเกตว่าเวลาหนูวางขนแปรงให้แบนบนกระดาษและลากเส้นลงมา เส้นที่ออกมาจะหนา” เป็นต้น  การที่ครูพูดถึงงานของเด็กในลักษณะนี้   เป็นการส่งเสริมทักษะทางด้านภาษา  และแสดงให้เด็กเห็นว่าตัวครูมีความสนใจในกระบวนการทำงาน และให้คุณค่าต่องานของเขา  ซึ่งทำให้เด็กรู้สึกภูมิใจในตนเอง  เชื่อมั่นในความสามารถและทักษะของตน  
            7.สนทนากับนักเรียน เรื่องการดูแลรักษา  การใช้อุปกรณ์   และกติกาในการปฏิบัติกิจกรรม  ในระยะเริ่มต้น  ก่อนที่จะทำกิจกรรม  ครูควรที่จะพูดคุยให้เหตุผลกับนักเรียนเกี่ยวกับการดูแลรักษาอุปกรณ์  เช่น  การที่จะให้นักเรียนทำการตัดแปะ  ครูอาจจะพูดและสาธิตให้นักเรียนดูว่า เมื่อใช้กรรไกรเสร็จแล้ว  ควรเก็บไว้ในตะกร้าเหมือนเดิม  หรือใช้ความผิดพลาดเป็นบทเรียน เช่น ถ้าครูเห็นนักเรียนเหยียบกรรไกร  คุณครูควรอธิบายให้เด็กเข้าใจว่าทำไมไม่ควรเหยียบ  และสอนให้นักเรียนรู้จักช่วยกันรักษาสมบัติของห้องเรียน 
            8.กำหนดเวลาให้เหมาะสม  กิจกรรมศิลปะควรจัดให้เป็นกิจกรรมประจำวัน เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่เด็กให้ความสนใจมาก และเป็นส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้าน และทักษะทางด้านต่าง ๆ  ซึ่งในการจัดกิจกรรม ครูควรตั้งเวลาให้เหมาะสมกับกิจกรรม  การที่ครูตั้งเวลาไว้น้อย และเร่งเด็กให้ทำงานเสร็จภายในเวลาอันสั้นนั้น สิ่งที่สื่อออกมา คือ  กระบวนการทำงานนั้นไม่สำคัญเท่าการทำให้เสร็จในเวลา  ดังนั้น   เด็กก็จะรีบทำงานให้  เสร็จ ๆ ไป และไม่ใส่ใจในการทำงาน  เป็นปกติที่เด็กแต่ละคนจะใช้ระยะเวลาในการปฏิบัติกิจกรรมแตกต่างกัน   ดังนั้นคุณครูควรมีความยืดหยุ่นในเวลา  ถ้านักเรียนทำงานไม่เสร็จ  คุณครูอาจจะให้เวลาเพิ่มเติม หรือให้เขาเก็บงานไว้ทำในวันต่อไป
            9.ให้นักเรียนมีส่วนร่วม (Students’ Involvement) นักเรียนควรมีส่วนร่วมในการจัดเตรียม และทำความสะอาด เช่น ช่วยหยิบและเก็บกระดาษ  และตะกร้าใส่ดินสอสี  หรือช่วยเช็ดโต๊ะ  เพื่อที่เขาจะได้รู้จักการช่วยเหลือตนเอง  และเข้าใจถึงหน้าที่และรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และห้องเรียน 

ข้อควรระวังในการจัดประสบการณ์ศิลปะ
            1.ให้คะแนน หรือรางวัล เช่น ดาว สติกเกอร์ เป็นต้น  การให้คะแนนหรือรางวัลนั้น  คุณครูบางท่านอาจจะมองว่า  เป็นการสร้างแรงเสริมให้กับเด็ก  แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่เด็กจะได้ก็คือ  ความไม่กล้าที่จะลองเพราะกลัวว่าออกมาไม่สวย  ได้คะแนนไม่ดี  ความกลัวว่าผลงานของตนจะไม่ดีพอไม่สวยพอ  เปรียบเทียบและแข่งขันกับเพื่อน  นอกจากนี้ยังทำให้เด็กคิดว่าการทำงานต้องมีผลทางวัตถุตอบแทน  จึงให้ความสนใจที่ผลตอบแทนมากกว่ากระบวนการเรียนรู้   และยังจำกัดความคิดและสร้างสรรค์อย่างอิสระ 
            เนื่องจากนักเรียนมุ่งหวังที่จะสร้างผลงานให้ถูกใจครู  เพื่อที่จะได้รับคะแนนดีหรือรางวัล  ซึ่งจริง ๆ แล้วศิลปะนั้นถือว่าเป็นการสื่อสารความรู้สึกนึกคิดอย่างหนึ่งของแต่ละบุคคล  ดังนั้นศิลปะไม่ควรถูกมองว่ามีถูกหรือผิด  มีสวยมากหรือสวยน้อย  มีดีมากหรือดีน้อย  การที่เราให้คะแนน หรือรางวัล  ถือว่าเป็นการตั้งกฎเกณฑ์เพื่อตัดสินความคิด ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวนั้น  ไม่มีมาตรฐานเพราะขึ้นอยู่กับความคิดและความพอใจของผู้สอนแต่ละบุคคล  จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่ครูจะตัดสินผลงานของเด็กด้วยการให้คะแนน หรือรางวัล 
            2.ให้นักเรียนระบายสี และตัดแปะกระดาษในกรอบ  ศิลปะเป็นการสื่อความคิด ความรู้สึก ความเข้าใจ  โดยใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ สื่อสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นรูปธรรม    การให้นักเรียนทำงานศิลปะที่มีกรอบกำหนดนั้น (pre-draw)  เป็นการจำกัดความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก  เนื่องจากรูปถูกกำหนดตายตัวไว้แล้ว  นักเรียนไม่สามารถจะปรับเปลี่ยนตามจินตนาการของตนได้   และต้องทำตามแบบฉบับที่ถูกกำหนดไว้  
            ครูควรคำนึงว่า  งานศิลปะนั้นเป็นงานที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์  ไม่ใช่ กิจกรรมที่เน้นความสวยงามในแบบที่ผู้ใหญ่คาดหวังไว้  กิจกรรมศิลปะควรเป็นกิจกรรมปลายเปิดที่ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ  และสร้างสรรค์ผลงานตามความรู้สึกของตน
            3.ใช้กระดาษที่ตัดเป็นรูปร่างสำเร็จแล้ว  การใช้กระดาษที่ตัดเป็นรูปร่างสำเร็จ (pre-cut shapes) ในการตัดแปะนั้น  สิ่งที่เด็กจะได้รับก็คือ การรู้จักแปะรูปด้วยกาว และการจัดวางเพื่อให้เกิดความเหมือน  กิจกรรมในลักษณะนี้เป็นงานที่จำกัดความคิดสร้างสรรค์  และเน้นเพียงความสวยงามและความเหมือนซึ่งขึ้นอยู่กับความพอใจและความคิดของผู้สอน  กิจกรรมไม่ได้สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก   ดังนั้นคุณครูควรหลีกเหลี่ยงการตัดกระดาษสำเร็จรูปให้นักเรียน  ควรให้นักเรียนฉีก ตัด กระดาษเป็นรูปร่าง  ต่าง ๆ ตามความคิดส่วนตัว 

            4.วาดรูปเป็นตัวอย่างให้เด็กดูเป็นตัวอย่าง  การที่คุณครูวาดภาพให้เด็กดูเป็นตัวอย่างนั้น  ส่งถึงผลเสียมากกว่าผลดี  เพราะเป็นธรรมดาที่เด็กนั้นจะชื่นชมผลงานของครู  และต้องการที่จะสร้างสรรค์ผลงานให้ได้เหมือนกับของผู้ใหญ่ และเมื่อเขาไม่สามารถทำให้เหมือนได้  เขาก็จะรู้สึกท้อแท้ ผิดหวังในตนเอง และจะทำให้เขารู้สึกไม่ดีต่อกิจกรรมนั้น ๆ และต่อตนเอง    
            5.ช่วยแก้ปัญหา  โดยการทำให้  เวลาที่นักเรียนวาดอะไรไม่ได้  บางทีคุณครูก็จะช่วยด้วยการทำให้   ซึ่งวิธีนั้นทำให้นักเรียนไม่รู้จักอดทนต่อการแก้ปัญหา และไม่พยายามเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง  ถ้านักเรียนวาดรูปไม่ได้  ครูควรพูดแนะนำเพื่อทำให้ขั้นตอนการวาดง่ายขึ้น  และใช้คำถามกระตุ้นเพื่อเด็กคิด  เช่น “หน้าของหมามีรูปทรงอย่างไง เป็นสี่เหลี่ยม หรือวงกลม และตัวหมาเป็นรูปทรงอะไร  ” หรือ ให้แนะนำให้เด็กรู้จักการค้นคว้าและหาข้อมูลรอบตัวในการแก้ปัญหา เช่น  “เราลองไปหารูปหมาในหนังสือเป็นตัวอย่างดีไหม  บางทีการที่เราได้เห็นรูป ” 

อ้างอิง “Talking With Young Children About Their Art” by Schirrmacher, Robert, Young Chidren Magazine, July 1986, p. 3-7.