วันจันทร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2554

โรคอ้วนในเด็ก

บทความเกี่ยวกับอนุบาลศึกษา


โรคอ้วนในเด็กอนุบาล…ภัยเงียบที่แฝงมากับความน่ารัก
โดย อาจารย์เกศินี วัฒนสมบัติ

ในปัจจุบัน ภาวะโภชนาการเกินเป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นกับทุกภูมิภาค ทุกเพศ ทุกวัย จากการสำรวจภาวะอาหารและโภชนาการในประเทศไทยของกรมอนามัย สถิติปีพ.ศ.2529 พบอุบัติการณ์โรคอ้วนในประชากรทั่วประเทศ 14.3% และในปีพ.ศ. 2538 พบมากขึ้นเป็น 29.9%


ในระดับอนุบาลนั้น จากโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2542 พบอุบัติการณ์โรคอ้วน 13.6% ในปี 2547 จากการสำรวจข้อมูลโรงเรียนอนุบาล 29 โรง พบเด็กนักเรียนในเกณฑ์ท้วมและอ้วนถึง 32.4% ครูเกศจึงขอนำข้อมูลจากป้าหมอสุนทรีโรงพยาบาลเด็ก และข้อมูลจากการอบรม “การเฝ้าระวังโรคอ้วนในเด็กอนุบาล” กระทรวงสาธารณสุข มาถ่ายทอดให้ผู้ปกครองได้รับทราบกัน

โรคอ้วนไม่ใช่โรคอันตรายร้ายแรง แต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถดูแลแก้ไขได้โดยคุณพ่อ คุณแม่ คุณตา คุณยายหรือผู้ดูแลเด็ก ครูเกศและป้าหมอหวังว่า ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับโรคอ้วนและการดูแลน้ำหนักของเด็ก ๆ จะทำให้คุณพ่อ คุณแม่ เข้าใจและช่วยระวังสุขภาพและโภชนาการของเด็ก ๆ มากขึ้น

ภาวะโรคอ้วนมีอยู่ 2 ชนิดด้วยกันคือ อ้วนธรรมดา และอ้วนจากโรค ( กลุ่มอาการที่เกิดจากต่อมไร้ท่อ ) ในจำนวนเด็ก ๆ ที่เป็นโรคอ้วนร้อยละ 95 จะจัดอยูในประเภทอ้วนแบบธรรมดา ซึ่งเกิดจากกินเกินพอดี ทานอาหารที่มีรสหวาน มีไขมันสูง ออกกำลังกายไม่เพียงพอ เช่น ชอบนอนดูทีวี เล่นเกม ไม่ยอมขยับตัว สิ่งแวดล้อมเป็นใจ เช่น ถูกทอดทิ้ง อารมณ์บูด มีขนมเต็มบ้าน บางรายที่คุณพ่อ คุณแม่อ้วน อาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ( 30-80 % ) ส่วนอีกประมาณร้อยละ 5 เป็นภาวะความอ้วนที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องดูแล แก้ไขและควบคุมโดยแพทย์

เด็ก ๆ ที่จัดอยู่ในภาวะอ้วนแบบธรรมดา เราอาจมองจากภายนอกว่าเด็ก ๆ น่ารักจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น แต่ภายใต้ความน่ารักนั้นมีอาการบางอย่างที่แฝงอยู่ซึ่งเราอาจไม่สามารถสังเกตได้หรือเด็ก ๆ ไม่สามารถอธิบายให้เราทราบได้ เช่น น้ำตาลในเลือดสูง หายใจลำบาก ปวดข้อ ผิวหนังอักเสบหรือหยาบดำขึ้น ถ้าเด็ก ๆ มีภาวะน้ำหนักเกินอยู่เป็นเวลานาน คุณพ่อ คุณแม่ จำต้องระวัง เรื่องความดันโลหิตสูง เบาหวานและโรคหัวใจด้วยเช่นกันค่ะ

ดังนั้น ก่อนที่เด็ก ๆ จะเป็นโรคอ้วน เรามาช่วยกันสน้างสุขนิสัยที่ดีในการเฝ้าระวังโรคอ้วนในเด็กวัยอนุบาลกันดีกว่าค่ะ เทคนิคการสร้างสุขนิสัยการกินที่ดีนี้ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์ต่อเด็กที่มีภาวะน้ำหนักเกินเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์กับเด็ก ๆ ที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์และเด็ก ๆ ที่มีน้ำหนักตามเกณฑ์ด้วยค่ะ
  1. ให้เด็กๆ ทานอาหารให้เป็นเวลา หากเด็กไม่ทานอาหารมื้อใดไม่ควรให้ทานเสริม ไม่ทานจุบจิบระหว่างมื้ออาหาร งดการทานน้ำหวานก่อนมื้ออาหาร
  2. จำกัดเวลาอาหาร (ประมาณ 30 นาที) ไม่ควรตั้งอาหารไว้บนโต๊ะตลอดเวลา
  3. คุณพ่อ คุณแม่และคุณครูควรตระหนักว่ามนุษย์มีสัญชาติญาณในการทานอาหารเมื่อหิว หากคุณพ่อ คุณแม่ เข้าใจกฎธรรมชาตินี้ จะลดความกังวลเมื่อเด็กไม่ยอมทานอาหาร และหลีกเลี่ยงการบังคับให้เด็กทานด้วยการป้อนแบบยัดเยียดเพราะจะทำให้เด็ก ๆ มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการทานอาหาร ควรฝึกให้เด็กทานด้วยตัวเอง
  4. เด็กอนุบาลบางครั้งยังกลัวอาหารที่ไม่คุ้นเคย อาจไม่กล้าลองของใหม่ๆ โดยเฉพาะผัก คุณพ่อ คุณแม่ควรอธิบายให้เด็กทราบ ให้กำลังใจ ให้เด็กลองไม่ควรบังคับข่มขู่ ต้องยอมรับความคิดเห็นและการตัดสินใจของเขา
  5. คุณพ่อ คุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการรับประทานอาหารที่หลากหลาย เนื่องจากเด็กมักเลียนแบบพ่อแม่ในทุกๆ เรื่อง คุณพ่อ คุณแม่อย่าลืมนะคะว่าลูก ๆ เราแสนฉลาด แม้คุณพ่อ คุณแม่จะแอบเขี่ยผักออกจากจานเวลาที่ลูกเผลอ แต่เด็ก ๆ ก็มีสัญชาตญาณในการรับรู้แบบที่ผู้ใหญ่ไม่รู้ตัว
  6. สร้างมารยาทในการทานอาหาร บอกให้เด็กทราบมารยาทบนโต๊ะอาหาร ไม่เล่นขณะทานอาหาร หากเด็กควบคุมตัวเองไม่ได้ หรือมีพฤติกรรมไม่เป็นที่ยอมรับ ต้องแยกเด็กออกไปชั่วคราว โดยไม่อนุญาติให้เด็กถืออาหารติดมือไปทานที่อื่น ต้องให้เด็กเรียนรู้ความหิวและรอทานในมื้อถัดไป ไม่ให้อาหารเสริมพิเศษ
  7. สร้างวุฒิภาวะที่เหมาะสม ส่วนใหญ่เด็กมักเรียนรู้การทานอาหารเกือบทุกชนิดได้ เพียงแต่ใช้เวลาเริ่มเร็วต่างกัน พ่อแม่ต้องพยายามจัดอาหารให้หลากหลาย เพื่อให้เด็กคุ้นเคย และทดลอง
นอกจากอาหารแล้ว เด็ก ๆ ในวัยนี้ยังต้องการสารอาหารจากนมค่อนข้างมาก นมที่เด็ก ๆ ดื่มจึงมีส่วนในโรคอ้วนที่เกิดขึ้นกับเด็ก ในการเลือกผลิตภัณฑ์นม คุณพ่อ คุณแม่ควรดูที่ส่วนประกอบข้างกล่องหรือกระป๋องว่า ประกอบด้วยอะไรบ้าง คิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีไขมันเกลือและ น้ำตาล ปริมาณมาก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้เกิดอ้วนได้ การเลือกผลิตภัณฑ์นม ควรดูที่ฉลากข้างกล่องว่า มีแคลเชี่ยมปริมาณเท่าใด บางชนิดในกล่องมีแคลเชี่ยม 25 % บางชนิดมี 35 % นมที่มีประโยชน์ ควรมีแคลเซียม 30 %หรือมากกว่า และควรเลือกนมจืดให้เด็กรับประทาน แทนนมหวาน นมชอคโกแลตหรือสตรอเบอรรี่ ส่วนนมเปรี้ยวแม้จะมีรสชาดอร่อย แต่มีคุณค่าน้อยกว่านมธรรมดา นอกจากนี้ ในอนาคตอันใกล้ กระทรวงสาธารณสุขอาจประกาศให้นมเปรี้ยวเป็นนมที่สตรีมีครรภ์และเด็กควรดื่มในปริมาณที่เหมาะสมและด้วยความระมัดระวัง ทั้งนี้ เราคงจะต้องติดตามประกาศอย่างเป็นทางการของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

ในการระวังปริมาณน้ำตาลในนมหรืออาหารของเด็กนั้น สำหรับเด็กวัยอนุบาลเด็ก ๆ ควรได้รับน้ำตาลจากอาหารและเครื่องดื่มต่าง ๆ เพียง 4 ช้อนชาต่อวัน คุณแม่สามารถหาปริมาณน้ำตาลจากนมที่เด็ก ๆ ดื่มได้ โดยคำนวณจากปริมาณน้ำตาลที่ระบุข้างกล่อง (น้ำตาล 4 กรัมเท่ากับ 1 ช้อนชา) คุณพ่อ คุณแม่ลองเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายต้องการกับปริมาณน้ำตาลที่อยู่ในอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้นะคะ

  • น้ำอัดลม 1 ขวด มีน้ำตาล 7 ช้อนชา

  • ขนมเค้ก 1 ชิ้น มีน้ำตาล 6 ช้อนชา

  • ขนมหม้อแกง 1 ชิ้น มีน้ำตาล 5 ช้อนชา

  • นมหวาน 1 กล่อง มีน้ำตาล 4 ช้อนชา

  • ลูกอม 1 เม็ด มีน้ำตาล 1 ช้อนชา
    แน่นอนค่ะ อาหารเหล่านี้เป็นอาหารซึ่งเด็ก ๆ ที่มีน้ำหนักเกินควรหลีกเลี่ยง

    ดังนั้น คุณครูหวังว่า คุณพ่อ คุณแม่จะช่วยกันเลือกอาหารการกินที่มีประโยชน์แก่เด็ก ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ มีสุขภาพที่ดีและรักษาน้ำหนักให้ได้มาตรฐานค่ะ ท้ายนี้ขอฝากไว้อีกครั้งนะคะว่า น้ำหนักเกินไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่เป็นสิ่งที่เราสามารถดูแล แก้ไขได้หากมีวินัย เมื่อลูก ๆ ของเรามีวินัยในการกิน การเลือกทานอาหาร ลูก ๆ จะมีสุขภาพกายและจิตที่ดี มีความพร้อมในการเรียนรู้และมีความสุขด้วยค่ะ



  • วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

    เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเด็กปฐมวัย

       โดย...นายสุพจน์  มณีรัตนโชติ  รองผอ.สพท.นธ.เขต 2
    นายทองต่อ  พันธเสน  ศึกษานิเทศก์  สพท.นธ.เขต 2
                                                   นางรดา  ธรรมพูนพิสัย  ศึกษานิเทศก์  สพท.นธ.เขต 2
                    การจัดการศึกษาปฐมวัยเป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยมุ่งส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านอย่างสมดุล รวมทั้งการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่ดีงามให้แก่เด็ก โดยผ่านประสบการณ์เล่นและการเรียนรู้อย่างมีความหมาย
                    ในปี พุทธศักราช 2546 ได้มีการประกาศหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย เพื่อเป็นแนวทางให้โรงเรียนอนุบาลหรือสถานเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก ได้จัดการศึกษาและอบรมเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานของหลักสูตร จึงได้กำหนดให้มีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาเฉพาะแต่ละแห่งที่เหมาะสม กับการพัฒนาและ การจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัยในสถานศึกษานั้น ๆ อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ( บทนำ,สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ )
    หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย  พุทธศักราช  2546
                    ปรัชญาการศึกษาปฐมวัย
                    การศึกษาปฐมวัยเป็นการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี ( 5 ปี 11 เดือน 29 วัน )บนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้  ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กแต่ละคนตามศักยภาพ ภายใต้ บริบทสังคม  วัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่  ด้วยความรัก  ความเอื้ออาทรและความเข้าใจของทุกคน  เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  เกิดคุณค่าต่อตนเองและสังคม
                    หลักการ
                    1.ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการที่ครอบคลุมเด็กปฐมวัยทุกประเภท
                    2.ยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ  โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและวิถีชีวิตของเด็กตามบริบทของชุมชน  สังคมและวัฒนธรรมไทย
                    3.พัฒนาเด็กโดยองค์รวมผ่านการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย 
                    4.จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
                    5.ประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัว  ชุมชนและสถานศึกษาในการพัฒนาเด็ก
    หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุ  3 – 5 ปี
    จุดหมาย
                    มุ่งให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย  อารมณ์  จิตใจ  สังคมและสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย  ความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล  จึงกำหนดจุดหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานให้เด็กเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์
    คุณลักษณะที่พึงประสงค์สำหรับเด็กปฐมวัย อายุ  3 – 5 ปี
                    1.ร่างกายเจริญเติบโตตามวัยและมีสุขนิสัยที่ดี
                    2.กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กแข็งแรง  ใช้ได้อย่างคล่องแคล่วและประสานสัมพันธ์กัน
                    3.มีสุขภาพจิตดีและมีความสุข
                    4.มีคุณธรรม  จริยธรรมและมีจิตใจที่ดีงาม
                    5.ชื่นชมและแสดงออกทางศิลปะ  ดนตรี  การเคลื่อนไหวและรักการออกกำลังกาย
                    6.ช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย
                    7.รักธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม  วัฒนธรรมและความเป็นไทย
                    8.อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
                    9.ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย
                    10.มีความสามารถในการคิดและแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย
                    11.มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
                    12.มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้และมีทักษะในการแสวงหาความรู้
    ระยะเวลาเรียน
                    ใช้เวลาในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก  1 – 3 ปี การศึกษาโดยประมาณ  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของเด็กที่เริ่มเข้าสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย 



    สาระการเรียนรู้
                    สาระการเรียนรู้ใช้เป็นสื่อกลางในการจัดกิจกรรมให้กับเด็ก  ความรู้สำหรับเด็กอายุ 3 – 5 ปี จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ  1. ตัวเด็ก 2.บุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก  3.ธรรมชาติรอบตัวเด็ก  4.สิ่งต่างๆรอบตัวเด็ก
                    สาระการเรียนรู้กำหนดเป็น  2  ส่วน
     1.ประสบการณ์สำคัญ
    ประสบการณ์สำคัญเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเด็กทางด้านร่างกาย  อารมณ์  จิตใจ  สังคมและสติปัญญา  ช่วยให้เด็กเกิดทักษะที่สำคัญสำหรับการสร้างองค์ความรู้ โดยให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุ  สิ่งของ  บุคคลต่างๆที่อยู่รอบตัวรวมทั้งการปลูกฝังคุณธรรม  จริยธรรมไปพร้อมกันด้วย
    2.สาระที่ควรเรียนรู้
    สาระที่ควรเรียนรู้เป็นเรื่องราวรอบตัวเด็กที่นำมาเป็นสื่อ  ในการจัดกิจกรรมให้เด็กเกิดการเรียนรู้    ไม่เน้นการท่องจำเนื้อหา  ผู้สอนสามารถกำหนดรายละเอียดขึ้นเองได้  ให้สอดคล้องกับวัย  ความต้องการและความสนใจของเด็ก  โดยให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์สำคัญ  ทั้งนี้อาจยืดหยุ่นเนื้อหาได้  โดยคำนึงถึงประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมในชีวิตจริงของเด็ก
    ลักษณะการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
                    เด็กปฐมวัยเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรม  การปฏิบัติและการมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อและบุคคลที่แวดล้อมเด็ก      ดังนั้น  สื่อและแหล่งการเรียนรู้  จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ครูสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้  เพื่อสร้างความรู้  ความเข้าใจ  ความรู้สึกและเพิ่มพูนทักษะทางด้านต่างๆให้แก่เด็ก
    สื่อที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
                    1.เหมาะสมกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัย
                    2.มีความเป็นรูปธรรมสูง  เด็กสามารถกระทำได้ด้วยตนเอง  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้
                    3.เชื่อมโยงโลกภายในและโลกภายนอกของเด็กได้  มีความหมายต่อการเรียนรู้
                    4.สามารถใช้ได้จริง  ไม่เสี่ยงต่อการเกิดความรู้สึกล้มเหลวในการเรียนรู้ของเด็ก
                    5.มีจุดประสงค์ของการนำไปใช้แน่นอนว่า  ใช้เพื่ออะไรและใช้อย่างไร
                    6.สร้างความสนุกสนาน  จินตนาการ  ความคิดสร้างสรรค์และมีความสุขในการเรียนรู้



    การประเมินพัฒนาการ
                    1.ประเมินพัฒนาการครบทุกด้านเป็นรายบุคคลอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
                    2.ครูต้องสังเกตและประเมินพัฒนาการเด็กจากคุณลักษณะตามวัย  ครูพบความผิดปกติต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว
    3.นำข้อมูลการประเมินมาพิจารณาปรับปรุง  วางแผนการจัดกิจกรรมและการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
                    4.รายงานผลการประเมินให้กับผู้ปกครอง
    ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินพัฒนาการ( ต้องเหมาะสมกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก )
                    1.แบบสังเกตพฤติกรรม
                    2.แบบประเมินพัฒนาการ
                    3. Portfolio
                    4.อุปกรณ์สำหรับบันทึกภาพหรือเหตุการณ์ต่างๆเพื่อจัดทำสารนิทัศน์
    มาตรฐานการศึกษาปฐมวัย
                    1.มาตรฐานด้านคุณภาพเด็ก ( มาตรฐานที่ 1 – 8 )
                  2.มาตรฐานด้านการจัดการเรียนรู้( มาตรฐานที่ 9 – 10 )
                    3.มาตรฐานด้านการบริหารและการจัดการศึกษา ( มาตรฐานที่ 11- 16 )
                    3.มาตรฐานด้านการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ ( มาตรฐานที่ 17 – 18 )
                    จากการประชุมปฏิบัติการเสริมสมรรถนะศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานการจัดการศึกษาปฐมวัย      ในระหว่างวันที่ 21-26 กุมภาพันธ์ 2553 ณ  โรงแรมเอเชียแอพอร์ท  กรุงเทพมหานคร 
         ประธานพิธีเปิดโดย ดร.ชินภัทร  ภูมิรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความเห็นว่า     รัฐดูแลการศึกษาปฐมวัย  น้อยเกินไปทั้งๆที่บอกว่าปฐมวัยคือรากฐานของชีวิต  จนต้องมีโครงการเพื่อรณรงค์เช่น  ส่งเสริมรักการอ่าน  การเรียนรู้ตลอดชีวิต  Play and Learns  เป็นตัวสะท้อนแนวการจัดประสบการณ์ได้ดี ไม่เน้นให้อ่านและเขียนเร็วเกินไป  จึงเกิดความขัดแย้งในแนวคิด  ทฤษฏี  ปฏิบัติ  กับความต้องการของผู้ปกครอง  การดูแลเอาใจใส่ปฐมวัยอย่างจริงจังคือกุญแจนำไปสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาและมีความเห็นโดยสรุปว่า  การศึกษาปฐมวัยคุ้มค่าต่อการลงทุนของรัฐบาลเพราะมีความเชื่อว่า “การป้องกันดีกว่าการแก้ไขปัญหา การเตรียมความพร้อมระดับปฐมวัย  เป็นการป้องกันปัญหาทั้งหมด ดังนั้นควรเน้น          การส่งเสริมระบบนิเทศการศึกษา
                    แก่นแท้นวัตกรรมการสอนภาษาแบบธรรมชาติ ( Whole Language Approach) ให้ความรู้โดย         ดร.นฤมล  เนียมหอม  คบ, คม, คด, การศึกษาปฐมวัย  โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ  กทม. เขต 1 ได้ให้ความรู้ว่า     การสอน ภาษาแบบธรรมชาติ  ปรัชญาและระบบความเชื่อที่ทำให้เกิดการสอนภาษาโดยองค์รวม ทฤษฏี    การเรียนรู้ที่มีอิทธิพลได้แก่ 
                    Dewey: เด็กเรียนรู้ภาษาจากประสบการณ์และการลงมือกระทำ ( เรียนอ่านด้วยการอ่าน  เรียนเขียนด้วยการเขียน  เรียนการฟังจากให้ฟัง ) ไม่ใช่ให้นักเรียนเรียนการอ่านด้วยวิธีการฟัง
                    Piaget: กระบวนการก้าวห่างของแต่ละขั้น ( ขั้นซึมซับประสบการณ์ ขั้นสงสัยทำให้เกิดความสมดุล  การปรับโครงสร้างทางสติปัญญา )
    Vygotsky: การถ่ายทอดทางสังคม
                    โดยเชื่อมั่นว่า  เด็กจะสามารถอ่านและเขียนได้ดีขึ้นและถูกต้องยิ่งขึ้น  ตอบสนองต่อการใช้ภาษา  ของเด็กอย่างเหมาะสมโดยไม่คาดหวังให้เด็กอ่านและเขียนได้อย่างผู้ใหญ่  เด็กมีโอกาสอ่านเขียนอย่าง           มีจุดมุ่งหมายจริงๆในชีวิตประจำวัน  โดยมีครูเป็นแบบอย่างที่ดี  หากเด็กเขียนผิดครูจะแสดงตัวอย่างที่ถูกต้องให้เด็กดูในโอกาสที่เหมาะสม
                    กิจกรรมการเรียนการสอน  เช่น 
    -          สนทนาข่าวและเหตุการณ์
    -          อ่านออกเสียงให้เด็กฟัง ( มีช่วงเวลานิทาน  กลุ่มใหญ่  กลุ่มย่อย )
    -          การเล่าเรื่องซ้ำ ( เด็กต้องมีประสบการณ์ในการฟัง )
    -          การอ่านร่วมกัน
    -          การสอนอ่านแบบชี้แนะ
    -          อ่านอิสระ
    -          อ่านเงียบ ๆตามลำพัง ( ใช้เวลาประมาณ  5  นาที  )
    -           การเขียนร่วมกัน  ( อาจเขียนก่อนหรือหลังการทำกิจกรรม )
    -          เขียนอิสระ ( ครูต้องเคารพการเขียนของเด็ก เด็กจะเขียนอะไรก็ได้ เป็นตัวอักษรหรือไม่ก็ได้ )
    การสอนแบบโครงการ ( Project )
    ความหมาย : การศึกษาอย่างละเอียดลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของ เด็กทั้งห้อง / เด็กกลุ่มเล็ก / รายบุคคล
    ขั้นตอนการสอน  แบ่งเป็น  3  ระยะคือ  ระยะเริ่มต้น  ระยะพัฒนา  สรุป
    ลักษณะโครงสร้าง  5  ขั้นตอน
    1.       การอภิปรายกลุ่ม  ( ที่ตนเองทำกับเพื่อน  กลุ่มย่อย  กลุ่มใหญ่ )
    2.       การทำงานภาคสนาม ( เป็นประสบการณ์เรียนรู้ขั้นแรก )
    3.    การนำเสนอประสบการณ์เดิม  ( เป็นการทบทวนโดยการเขียนวาดภาพ  สัญลักษณ์  คณิตศาสตร์  เป็นที่มาของการเขียนแผนการจัดประสบการณ์  สิ่งที่เด็กรู้แล้ว  สิ่งที่อยากรู้  สิ่งที่ควรรู้ )
    4.       การสืบค้น
    5.       การจัดแสดง
    การสอนแบบมอนเทสซอริ ( Montessori ) ผู้ให้ความรู้คือ  ดร.อรพรรณ  บุตรกตัญญู  อาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษา  สาขาการศึกษาปฐมวัย  ม.เกษตรศาสตร์
    หัวใจของการสอนแบบมอนเทสซอริ คือ  สื่อและอุปกรณ์ให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติ  โดยอุปกรณ์ไม่ใช่แค่มี  แต่พร้อมใช้และต้องรู้วิธีว่าใช้อย่างไร เน้นการศึกษาด้านประสาทสัมผัสโดยมีจุดมุ่งหมายฝึกประสาทสัมผัส  เนื้อหาประกอบด้วย  สี  มิติ 
    การตระเตรียมสำหรับการเขียนและคณิตศาสตร์สำหรับกลุ่มวิชาการ 
    -                      มีจุดมุ่งหมายเพื่อการเตรียมตัวสู่ระบบการศึกษา  เนื้อหา เน้นการอ่านการเขียน  เป็นการนำ ไปสู่การเรียนคณิตศาสตร์
    -                      อุปกรณ์มอนเทสซอริ  เช่น  หอคอยสิชมพู  ( เรียนรู้เรื่องขนาด )
    -                      ตัวอักษรกระดาษทราย ( ทิศทางตัวอักษรที่ถูกต้องเชื่อว่าหากเด็กใช้นิ้วสัมผัสกระดาษทราย  จะทำให้เด็กจำได้จนขึ้นใจ )
    ที่สำคัญที่สุด  ครูต้องรู้วิธีการใช้และแสดงการใช้อุปกรณ์ได้อย่างเหมาะสม
    การสอนตามแนวคิดของวอลดอร์ฟ  ผู้ให้ความรู้คือ  ดร.อภิสิรี  จรัญชวเมท  เป็นการพัฒนาพื้นฐานก่อนเข้าสู่ชั้นประถมปีที่ 1 หลักของการจัดกิจกรรมของวอลดอร์ฟ “เธอเป็นแม่อย่างไร  จัดห้องเรียนอย่างนั้น” นำมาเชื่อมโยงงานวิชาการ ( ฝึกเตรียมอาหาร  การจัดห้องนอน  ) จัดโรงเรียนอนุบาลเหมือนบ้านตนเอง โดยมีข้อสังเกต  เด็กอยากทำหน้าที่จนสำเร็จหรือไม่  ครูมีหน้าที่สนับสนุนการศึกษา ( ครูทำหน้าที่เหมือนแม่ )
    การขับเคลื่อนการนิเทศสู่การพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัย ผู้ให้ความรู้คือ  นายพิสิษฐ์  เทพดวงแก้ว  ( ศน.เชี่ยวชาญ ) เชียงราย  เขต  1  ในกระบวนการนิเทศต้องทำการศึกษา  วิเคราะห์ ว่าครูต้องการพัฒนาอะไรและนำนโยบายรัฐบาลมาพิจารณาร่วมด้วยโดยตั้งจุดมุ่งหมายหัวข้อในการพัฒนา  หากเป็นเรื่องการจัดประสบการณ์  เราต้องสร้างเครื่องมือในการนิเทศ  การปฏิบัติการนิเทศใช้วิธีการนิเทศรวม (ประชุมอบรม )
    โดยใช้ครูแกนนำ  ครูที่มีความสามารถเข้ามาร่วมในการนิเทศ  สิ่งที่ติดตามจะติดตามเรื่องที่ สพท.จัดอบรม   ให้ความรู้    การนิเทศเป็นการติดตาม  ช่วยเหลือตรงจุดที่ต้องพัฒนาพร้อมกับมีเครื่องมือในการเก็บข้อมูล     นั่นคือ  การทำงานต้องอิงหลักการ  ในการรายงานบนพื้นฐาน  โดยใช้รูปแบบมุ่งอนาคต  นั่นคือต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาเด็กปฐมวัย  เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ  ยึดมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหลักสูตรปฐมวัย  พ.ศ.  2546  เป็นหลัก  โดยเน้นให้ครูปฐมวัยเล็งเห็นคุณลักษณะของเด็ก แต่ละคนอย่างชัดเจนและสามารถพัฒนาให้ถึงความสามารถสูงสุด 
                    Book start  หนังสือเล่มแรกสำหรับโครงการพัฒนาพ่อแม่  ผู้ปกครอง  บรรยายโดยอาจารย์เรืองศักดิ์  ปิ่นประทีป  ให้ความรู้ดังนี้
                    เด็กแรกเกิดถึง  6  ปี  สมองโตไปแล้วกว่า  80 % เมื่อเราจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในระดับประถมศึกษาเป็นการจัดที่สายเสียแล้ว  ให้เด็กเกิดนิสัยรักการอ่านได้แต่เหนื่อยมากเพราะต้องมีตัวล่อ ( อ่าน 10  เล่มได้ดินสอ  1  แท่ง ฯลฯ ) เพราะนิสัยถาวร  ( 0 – 6 ปี ) ได้หายไป  แต่การอ่านที่ถูกบังคับไม่ได้ก่อให้เกิดนิสัยรักการอ่านถาวร  จากการวิจัยการอ่านหนังสือให้ฟังหรือส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน  ควรเริ่มตั้งแต่อายุ        6 เดือน  ถึง  6  ปี  ช่วงเวลานี้ เป็นช่วงพัฒนาการอ่านที่ดีมาก  สำหรับหนังสือเล่มแรก อยากให้เด็กมีสมรรถนะตามวัย  เราจะต้องทำ  4  อย่างนี้เป็นประจำ  คือ  1.เสียงเพลงและดนตรี  2.ศิลปะ  3.กิจกรรมเคลื่อนไหว        4.เล่านิทาน  อ่านหนังสือ
                    การปลูกฝังให้เด็กเป็นนักอ่านที่ดีต้องมี  11 ... 7  อย่า
    1.ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี  2.ต้องมีมุมหนังสือในบ้าน/ห้องเรียน 3.ต้องเลือกหนังสือตามวัย  4.ต้องใส่ใจชวนกันไปอ่าน  5.ต้องชื่นชมกันเสมอ  6.ต้องนำเสนออย่างมีความสุข  7.ต้องหากิจกรรมสนุก ๆมาประกอบ  8.ต้องต่อยอดทางความคิด ( เช่น ถามเรื่องจากภาพ )  9.ต้องไม่คิดถึงวัย ( ไม่คำนึงว่าอายุ  6  เดือน )  10.ต้องใช้เวลาพอดี ( อย่างเล่าครึ่งเรื่องแล้วพรุ่งนี้ค่อยเล่าต่อ.. เด็กจะเรียนรู้การผลัดวัน ประกันพรุ่ง )  11.ต้องมีระเบียบชีวิต
    ...7  อย่า  ได้แก่ 1.อย่ายัดเยียด  2.อย่าหวังสูง ( เด็กชอบอ่านจะมีผลการเรียนดีเยี่ยม )  3.อย่ากังวล        ( ว่าเด็กจะฉีกหนังสือ )  4.อย่าจ้องสอน ( ในการให้เริ่มอ่านครั้งแรก ๆ อ่านให้จบก่อน  อย่ามัวแต่สอน        เด็กจะไม่สนุก )  5.อย่าถามมาก  6.อย่าขัดคอ ( หากเด็กเล่าย้อนกลับไม่ตรงกับเรื่อง )  7.อย่าเบื่อหน่าย
    สารนิทัศน์ในระดับปฐมวัย บรรยายโดย รศ. ดร.พัชรี  ผลโยธินและดร.วรนาท  รักสกุลไทย
    สารนิทัศน์เป็นการจัดทำข้อมูลที่จะเป็นหลักฐานหรือแสดงให้เห็นร่องรอยของการเจริญเติบโต  พัฒนาการและการเรียนรู้  สารนิทัศน์  มองได้สองส่วน  คือ  กระบวนการและเนื้อหา
    ความสำคัญ  สามารถพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาได้อย่างมีระบบ  ให้อำนาจครูในการกำหนดเป้าหมาย  บทบาทในการพัฒนาและการประเมินตนเอง
    ประเภทของสารนิทัศน์
    -                      การบรรยายเกี่ยวกับเรื่องราวหรือประสบการณ์ที่เด็กได้รับ
    -                      การสังเกตและบันทึกพัฒนาการเด็ก
    -                      พอร์ตโฟลิโอ  สำหรับเด็กเป็นรายบุคคล
    -                      การสะท้อนตนเองของเด็ก
    -                      ผลงานรายบุคคลและรายกลุ่ม                                                                            
    การบูรณาการการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ผ่านดนตรี ในระดับอนุบาล ( สสวท. )
    การสอนเพลง  ควรมีกิจกรรมประกอบ  เด็กจะได้รับรู้ถึงจังหวะ  กิจกรรม  มีความคิดสร้างสรรค์จากการออกแบบการทำกิจกรรม
    องค์ประกอบที่สำคัญของดนตรี  มี  2 ส่วน  คือ  เสียงและจังหวะ  การจัดกิจกรรมในส่วนของจังหวะ  เช่น  นับจังหวะในเพลงแล้วใช้สัญลักษณ์แทนการนับจังหวะ  ซึ่งสามารถสอดแทรกการสอนวิทย์-คณิตฯ    ในเรื่องของการนับ  รูปทรง  แบบรูป  สัญลักษณ์  การเชื่อมโยง
    การพัฒนาศักยภาพทางภาษาด้วย Big Book  โดย อาจารย์สุวรรณา  ชีวพฤกษ์
    กิจกรรมการสอนภาษาโดยใช้หนังสือเล่มใหญ่
    1.กิจกรรมการอ่านร่วมกัน  มีการเตรียมตัวให้เด็กดูรูปเพื่อเชื่อมโยงกับชื่อเรื่อง  ให้เด็กมีการคาดเดา  ซึ่งเด็กจะคาดเดาได้ต้องมีทักษะการสังเกต  การอ่านและชี้ไปทุกวลีแล้วจึงมาดูภาพรวม
    2.ทำกิจกรรมส่งเสริมเนื้อหาหรือรูปภาพที่ปรากฏในหนังสือโดยเล่นบทบาทสมมุติ
    3.กิจกรรมการอ่านแบบชี้แนะ
    4.ให้เด็กมาเป็นคุณครู
    5.กิจกรรมการเล่นเกมภาษา
    6.กิจกรรมการอ่านข้อความตามโอกาส
    7.กิจกรรมการอ่านหนังสือที่บ้าน

    วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

    สาระน่ารู้สำหรับเด็ก

    การสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูก

        เมื่อลูกโตขึ้น มีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะแย่งเวลา และความสนใจของลูก ไปจากการอ่านหนังสือ คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะหาวิธีสร้างนิสัยรักการอ่าน ให้แก่ลูกเสียแต่เนิ่นๆ

    การสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูก เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากในเรื่องของเวลา ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์พบว่า การใช้เวลาเพียง 10 นาที ต่อวันในการอ่านหนังสือกับลูก สามารถที่จะช่วยให้เด็กชั้น ป.5 มีคะแนนการอ่านเอาเรื่อง อยู่ในระดับต้นๆ ได้ และในรายที่คุณพ่อคุณแม่ ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีต่อวันในการอ่านหนังสือกับลูก สามารถทำให้เด็ก ได้คะแนนอยู่ในอันดับท็อปของห้องได้ และที่สำคัญการอ่านเป็นการเปิดโลกกว้างที่มีคุณค่ามากให้แก่ลูก ซึ่งจะมีบทบาทมาก ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของลูกในอนาคต

         ซึ่งวิธีสร้างนิสัยรักการอ่าน มีง่ายๆ ดังนี้

    ควรหาเวลาอ่านออกเสียงดังๆ ด้วยกัน

         คุณพ่อคุณแม่หลายคน เลิกการอ่านหนังสือให้ลูก เมื่อลูกโตพอที่จะอ่านหนังสือเองได้ แต่ที่จริงแล้ว เด็กยังจะได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือด้วยกัน แม้ว่าจะโตเป็นวัยรุ่นแล้ว โดยการเลือกหนังสือที่มีระดับความยากง่ายที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก (หรือสูงกว่า) เมื่อเด็กยังเล็กหรือยังเป็นทารก

        การอ่านเป็นการฝึกฝนทักษะในการฟัง ซึ่งมักจะก้าวหน้ากว่าทักษะในการอ่านในช่วงที่เด็กยังอยู่ในระดับประถม โดยการทำเช่นนี้ จะช่วยให้ลูกได้รู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ และการวางรูปประโยค หรือ ความหมายของคำศัพท์ ที่อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละสภาวะ

         คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกเพิ่มพูนทักษะในการอ่านได้ โดยการเลือกหนังสือที่เหมาะสมกับวัยของเขา แล้วผลัดกันอ่านกับลูก เช่น ให้ลูกเริ่มอ่านย่อหน้าแรกก่อน แล้วคุณแม่ช่วยอ่านต่อ ในย่อหน้าที่สอง ควรปล่อยให้ลูก ได้พยายามอ่านจนจบ ตามที่กำหนดไว้เอง พยายามอย่าไปขัดคอ หรือตำหนิ หรือ คอยแก้ ถ้าเขาไม่สามารถอ่านได้ดีดังใจ แต่อาจจะช่วยแนะ ในคำที่ยากๆ ให้บางคำ

      พยายามอย่าบังคับ ให้ลูกต้องอ่านแต่หนังสือดีๆ ที่เราเลือกให้เท่านั้น เพราะในการอ่านให้สนุกนั้น เรื่องที่อ่านต้องน่าสนุกด้วย ผู้อ่านจึงจะรู้สึกอยากอ่าน และการอ่านก็คือการอ่าน ซึ่งเป็นเรื่องของทักษะ ยิ่งฝึกฝนมากก็จะยิ่งเก่งขึ้น ยิ่งอ่านได้เก่งขึ้น ก็จะยิ่งเกิดความสนุกในการอ่าน ก็จะยิ่งทำให้อยากอ่านมากขึ้นอีก คุณควรจะเลือกสิ่งที่จะให้ลูกอ่าน ที่เขียนในรูปแบบต่างๆกันบ้าง เช่น โคลง-กลอน ซึ่งเป็นคำที่สละสลวย และมีความหมายที่กระชับ และได้ใจความ เรื่องตลก หรือปัญหาเชาวน์ ที่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าฉลาด และสามารถนำไปเล่า หรือ ถามเพื่อนได้ หนังสือการ์ตูน ซึ่งเป็นการสื่อโดยภาพและคำพูดบ้าง ทำให้สามารถอ่านเข้าใจได้เร็ว นิทาน ที่มีการวางตัวเอกต่างๆ ในเรื่องที่ชวนติดตาม ทำให้เกิดจินตนาการ ไปตามบทที่ตัวเอกต่างๆ เป็นอยู่ ทำให้เด็กเข้าใจได้ว่า เกิดอะไรขึ้น และจะมีผลอย่างไรต่อไป นิตยสาร ซึ่งเป็นลักษณะเรื่องสั้นๆ ที่อยู่ในความสนใจของเขา ทำให้อ่านได้ง่าย
    พยายามหาโอกาสในการอ่าน

         ในระหว่างที่กำลังรอขึ้นรถไปโรงเรียน หรือเวลาที่รถติดมาก คุณอาจจะหาหนังสือเรื่องสั้นที่อ่านง่ายมาไว้ให้ลูกอ่าน ในเวลาสงบๆก่อนเข้านอน คุณแม่ควรหาช่วงเวลา ประมาณ 15-30 นาที อ่านหนังสือที่สบายๆ กับลูก พยายามทำให้การอ่าน เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่ง ที่น่าสนใจ จะเห็นว่าในห้องสมุด หรือร้านหนังสือใหญ่ๆ ในต่างประเทศ จะจัดในมีกิจกรรม “ชั่วโมงอ่านหนังสือ” หรือเล่านิทานให้แก่เด็กๆ ซึ่งคุณแม่ก็สามารถจัดให้ลูกได้เช่นเดียวกัน เช่น ทำเวลาวันเสาร์เย็น ที่มีเวลาอยู่ด้วยกัน ให้เป็นเวลาอ่านหนังสือ แทนที่จะให้ดูแต่ทีวี คุณแม่อาจจะนำเครื่องดื่ม หรือขนมขบเคี้ยวมาทานสลับไป ในระหว่างอ่านหนังสือ ก็จะทำให้เรื่องที่อ่านนั้น มีรสชาติมากขึ้น ในการเตรียมตัวเดินทาง หรือทำกิจกรรมของครอบครัวบางอย่าง เช่น การไปต่างจังหวัด คุณสามารถชวนให้เด็ก หัดอ่านค้นคว้า ถึงรายละเอียดของสถานที่ ที่จะไปเที่ยว หรือทำแผนการเดินทาง ที่มีรายละเอียดสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ซึ่งทำให้เด็กได้เรียนรู้มากขึ้น
    ถ้าจะให้ดีควรจำกัดเวลาการดูทีวี
         เมื่อปี 2537ศูนย์การศึกษาแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับความสามารถในการอ่านของเด็ก และพบว่า ในกลุ่มเด็กที่ใช้เวลาดูทีวี น้อยกว่า 3 ช.ม.ต่อวัน จะมีความสามารถในการอ่านหนังสือ ดีกว่าเด็กที่ดูทีวีมากกว่า 3 ช.ม.ต่อวัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ดูมากกว่า 4-5 ช.ม.ต่อวันขึ้นไป จะแย่ที่สุด


    พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
    คลินิกเด็ก.คอม

    โภชนาการของเด็ก


         การที่เด็กจะมีร่างกายแข็งแรง และเจริญเติบโตสมวัยนั้น จำเป็นจะต้องได้สารอาหารครบถ้วนที่ร่างกายต้องการ ซึ่งสำหรับคนที่เป็นพ่อแม่นั้นมักจะกังวลว่าลูกจะได้สารอาหาร
    ไม่พอเพียง และมักจะคอยเคี่ยวเข็ญให้ลูก ต้องทานอาหารมากๆ จนบางครั้งเกิดปัญหากับเด็กขึ้น
     
         คุณควรจะพิจารณาเลือกทางสายกลาง ให้ได้สารอาหารที่สมดุลระหว่าง แคลอรี่, คุณค่าทางโภชนาการ, ปริมาณอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ และ ส่วนประกอบอื่นๆ
    ที่สำคัญ อันได้แก่ แคลเซี่ยม, ธาตุเหล็ก, และ กากใยอาหาร (ไฟเบอร์) ซึ่งไม่เป็น
    การง่ายเลยที่จะหาวิธีทำอาหารให้เด็กๆ ได้ทานอย่างเอร็ดอร่อย, ได้แคลอรี่มากเพียงพอกับวัยที่กำลังเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ และ ได้สารอาหารต่างๆ เหล่านี้อย่างครบถ้วนในแต่ละวัน
     
         คุณพ่อ คุณแม่จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับการโภชนาการ และศิลปะของการทำอาหารให้น่ารับประทาน เพื่อเอาใจลูกๆ ความรู้เรื่องแคลเซี่ยม เด็กในวัยเรียนจำเป็นอย่างยิ่ง
    ที่จะต้องได้รับแคลเซี่ยมจากอาหารในแต่ละวันได้พอเพียง เพื่อทำให้กระดูกที่กำลังเจริญเติบโตแข็งแรง โดยทั่วไปเด็กอายุ 4 -8 ปี ต้องการแคลเซี่ยม ประมาณ 800 มิลลิกรัม ต่อ วัน ขณะที่เด็กอายุ 9-18 ปี ต้องการแคลเซี่ยม 1,300 มิลิกรัม ต่อวัน
    ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถจัดอาหารประเภทที่มีแคลเซี่ยมสูงให้แก่ลูกได้
     
         ในปัจจุบันจะสามารถ พบว่ามีอาหารหลายประเภทที่มี แคลซี่ยมสูง เช่น น้ำผลไม้ที่เติมแคลเซี่ยม, ผักใบเขียว หลายชนิด, และ ปลาตัวเล็กๆ ทอด เช่น ปลาข้าวสาร หรือ แม้แต่ ปลากระป๋อง เช่น ปลาซาร์ดีน และ ปลาแซลมอน
     
         ที่สำคัญคือการสนับสนุน ให้ลูกของคุณ มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น การเล่นกีฬาหลายๆ ประเภท โดยเฉพาะ weight-bearing exercises เช่นการวิ่งจ๊อกกิ้งหรือเดินออกกำลัง จะช่วยให้กระดูกแข็งแรง
    ขอบคุณข้อมูลจาก :
    http://www.clinicdek.com
    ธาตุเหล็ก
         เป็นสารอาหารที่สำคัญมากอีกชนิดหนึ่งที่เด็กควรจะได้รับให้เพียงพอในแต่ละวัน
         ในวัยทารก ต้องการ 6-10 มก.ของ ธาตุเหล็ก, ในขณะที่เด็กวัยต่ำกว่า 10 ปี ต้องการ 10-15 มก. และ เมื่อเข้าวัยรุ่น ควรได้ 15 มก. ต่อวัน ทั้งนี้เพราะในวัยรุ่นชายต้องการธาตุเหล็ก เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโตได้อย่างเต็มที่ และ ในวัยรุ่นหญิงต้องการธาตุเหล็ก เพื่อการ เจริญเติบโต และ เพื่อชดเชยการสูญเสียเลือด จากที่เริ่มมีประจำเดือน ดังนั้นในวัยรุ่นหญิง จะพบปัญหาการขาดธาตุเหล็กได้ง่ายกว่า อีกทั้งบางราย ยังอาจจะพยายามอดอาหาร เพื่อควบคุมน้ำหนัก และ ออกกำลังกายหนัก ทำให้ปัญหาการขาดธาตุเหล็กนี้มี ความรุนแรงขึ้นได้
     
         อาการของการขาดธาตุเหล็กนั้นมีได้หลายระดับ ตั้งแต่ รู้สึกอ่อนเพลียง่าย
    หงุดหงิด มึน หรือ ปวดศีรษะบ่อยๆ รู้สึกไม่ค่อยมีแรง ปลายมือ ปลายเท้าชา ในรายที่ขาดธาตุเหล็กรุนแรง ก็จะพบว่ามีปัญหาโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ทำให้เจ็บป่วยได้บ่อยๆ หรือ หายช้า
     
         ในกรณีที่คุณสงสัยว่าลูกจะมีปัญหาขาดธาตุเหล็ก ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งจะช่วยทำการตรวจวินิจฉัย และ ในบางรายจำเป็นต้องตรวจเลือด เพื่อวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะ โลหิตจางจากโรคเลือดธาลัสซีเมีย ไม่ควรให้ยาธาตุเหล็กเพิ่มเอง เนื่องจาก ธาตุเหล็กที่มากเกินไป อาจมีอันตรายได้ คุณสามารถช่วยจัด อาหารที่มีธาตุเหล็กสูงให้แก่ ลูกได้ทาน เช่น เนื้อวัว หมู ไก่ ตับ เลือดหมู เลือดไก่ ปลาทูน่า และ กุ้ง
     
        ธาตุเหล็กที่มาจากเนื้อสัตว์จะถูกดูดซึมได้ง่ายกว่าธาตุเหล็กที่มาจากผักใบเขียว นอกจากนั้นอาหารประเภท ถั่วต่างๆ และผลไม้แห้ง ก็มี ธาตุเหล็กในปริมาณมากพอควรเช่นกัน ในอาหารสำเร็จรูปแบบสมัยใหม่ เช่น ซีเรียล มักจะมีการเติมธาตุเหล็กเพิ่มขึ้น (iron-fortified cereal) ซึ่งสำหรับวัยรุ่น มักจะชอบทานประเภทที่เป็น ธัญพืช (whole-grain) และน้ำตาลน้อย (low-sugar) เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนัก แต่ก็ยังได้
    สารอาหารอื่น และ ธาตุเหล็กครบถ้วน
     
    อาหารที่มีกากใยอาหารมาก (fiber)
        อาหารที่มีกากใยไฟเบอร์มาก ก็จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตและ สุขภาพของลูก เพราะ ลดอุบัติการณ์การเกิดโรคหัวใจ และ มะเร็ง ในตอนอายุมากและยังช่วยให้ระบบขับถ่ายอุจจาระเป็นปกติสม่ำเสมอ
     
        คุณจึงควรฝึกให้ลูก ได้ทานผักและผลไม้เป็นประจำ จนเป็นนิสัยที่ดีต่อสุขภาพ วิธีการประมาณว่าลูกควรจะได้สารอาหารไฟเบอร์ วันละกี่กรัมในแต่ละวัน โดยการบวก 5 กับ อายุ เป็น ปี ของลูก เช่น ลูกอายุ 4 ปี ควรจะ ได้กากใยอาหารประมาณ 4+5 = 9 กรัม ต่อ วัน ซึ่งจะ ได้จากอาหารต่างๆ ดังนี้ คือ สลัดผัก, ข้าวโอต หรือ ธัญพืช อื่น ในอาหาร และ ขนมปัง ที่ทาน,ข้าวกล้อง หรือ ข้าวซ้อมมือ, อาหารประเภท ถั่วต่างๆ เช่น ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเขียว ต้มน้ำตาล หรือ ในรูปแบบของขนมไทยประเภทต่างๆ
     
        ในการฝึกให้ลูกทานอาหารที่มีกากใยเพิ่มมากขึ้นนั้น ควรค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย เพื่อให้ระบบการย่อยอาหารของลูก ค่อยๆ ปรับตัว จนคุ้นเนื่องจากรสชาติของอาหาร และ การย่อยอาหารที่มีไฟเบอร์มาก อาจจะทำให้มีปัญหาท้องอืด หรือ รู้สึกปวดท้อง ได้ ทำให้ลูกอาจไม่ชอบอาหารที่มีไฟเบอร์มากได้

    วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

    การศึกษาปฐมวัย

    การศึกษาปฐมวัย
    การจัดการศึกษาปฐมวัยเป็นการจัดการศึกษาก่อนภาคบังคับที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในอันที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กปฐมวัย ได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับวัยและพัฒนาการ ทั้งนี้เนื่องจากเด็กปฐมวัยหมายถึงเด็กที่มีอายุระหว่าง 0-6 ขวบนั้น เป็นวัยที่มีพัฒนาการทุกด้าน เจริญเติบโตในอัตราที่สูงสุด โดยเฉพาะระบบประสาทและสมองซึ่งเจริญเติบโตได้ถึงร้อยละ 80 ของผู้ใหญ่ เป็นระยะที่เกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุดในชีวิต ศักยภาพแห่งการเรียนรู้และพัฒนาการด้านต่างๆ สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ หากได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง นักจิตวิทยาและนักการศึกษาทั่วไปต่างเชื่อว่า ประสบการณ์ที่เด็กปฐมวัยได้รับจัยเป็นพื้นฐานของการพัฒนาการทุกด้านต่อเนื่องไปจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การวางรากฐานที่ดีให้กับเด็กปฐมวัย จึงเท่ากับเป็นการเตรียมและสร้างพลเมืองที่ดีมีคุณภาพให้กับประเทศชาตินั่นเอง อาจกล่าวได้ว่าจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาปฐมวัย ก็เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการทุกด้านให้เจริญเติบโตถึงขีดสุดของศักยภาพและเตรียมความพร้อมเพื่อการเรียนรู้และชีวิต โดยคุณสมบัติที่มุ่งสร้างเสริม คือ กระบวนการคิด กระบวนการกลุ่มคุณธรรม จริยธรรม วิถีชีวิตไทย สิ่งแวดล้อมและค่านิยม ความเสมอภาค
    ดังนั้น การจัดการศึกษาปฐมวัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการวางรากฐานเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ อีกทั้งยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการการจัดการศึกษาของมนุษย์อันเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ การศึกษาปฐมวัยจึงเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลสำหรับอนาคตของประเทศบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์
    แม้ว่าการจัดการศึกษาปฐมวัยของไทยเราจะมีมาตั้งแต่โบราณกาล คือ ตั้งแต่ในสมัยกรุงสุโขทัยก็ตามแต่มิได้มีการดำเนินการอย่างมีแบบแผนกล่าวคือ เป็นการศึกษาแบบไม่เป็นทางการ (Informal Education) คือไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ไม่มีโรงเรียนสำหรับเรียนโดยเฉพาะ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีการบังคับ เป็นการสอนแบบให้เปล่า ไม่มีค่าจ้างหรือค่าเล่าเรียน การเรียนจึงขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้เรียน เนื้อหาที่เรียนเน้นพุทธิศึกษาและวิชาชีพเป็นหลัก การจัดการศึกษาปฐมวัยลักษณะนี้ดำเนินมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2411 เป็นต้นมา บ้านเมืองได้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน รวมทั้งการศึกษาก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย และได้เกิดการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญ จากการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ส่งผลให้การจัดการศึกษา ปฐมวัยมีรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น ถือเป็นการศึกษาปฐมวัยในยุคเริ่มต้นอย่างมีระเบียบแบบแผน รูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยที่ปรากฏขึ้นเป็นประการแรก คือ มีการจัดตั้ง "โรงเลี้ยงเด็ก" และมีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก คือ โรงเรียนราชกุมาร และ โรงเรียนราชกุมารี สำหรับพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ นับเป็นสถานศึกษาปฐมวัยแห่งแรกที่เปิดดำเนินการอย่างเป็นระบบโดยมีการกำหนดชั้นเรียน วิชาเรียน และเวลาเรียนที่ชัดเจน ความตื่นตัวเกี่ยวกับการจัดการศึกษาปฐมวัยในยุคนี้ยังปรากฏในช่วงปลายรัชสมัยนี้ด้วย กล่าวคือ ได้มีการเผยแพร่ขยายแนวความคิดในการจัดการศึกษาปฐมวัยตามแบบตะวันตกของเฟรอเบลและมอนเตสซอรี่ เข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกและจากการนี้ได้ก่อให้เกิดการศึกษาในรูปแบบ "อนุบาล" ขึ้นในสมัยต่อมาอีกอย่างแพร่หลาย โดยเริ่มในลักษณะโรงเรียนราษฎร์เป็นส่วนใหญ่ โรงเรียนราษฎร์ที่เปิดสอนในระยะแรกมี 3 แห่ง คือ วัฒนาวิทยาลัย มาแตร์เดอี และราชินี หลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียนทั้งสามแห่ง คือ แนวหลักสูตรของเฟรอเบล และมอนเตสซอรี่
    นอกจากนี้รัฐบาลได้ส่งบุคลากรไปดูงานด้านการอนุบาลศึกษาในต่างประเทศ และเมื่อกลับมา ได้นำแนวคิดมาจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลของรัฐในปี พ.ศ. 2483 คือ โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ ซึ่งยึดแนวการสอนแบบมอนเตสซอรี่ และเริ่มมีหลักสูตรใช้อย่างเป็นทางการและเป็นต้นแบบของโรงเรียนอนุบาลของรัฐในระยะต่อมา เป็นที่น่าสังเกตว่าปรัชญาการจัดการศึกษาที่นักการศึกษาไทย ได้รับอิทธิพลมาจากการไปศึกษาดูงานในต่างประเทศจนมีการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลของเอกชนและของรัฐ โดยยึดแนวการจัดการศึกษาของเฟรอเบล และของมอนเตสซอรี่
    สำหรับหลักสูตรระดับปฐมวัยมีการประกาศใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2489 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 5 ช่วง คือ
    1) ช่วง พ.ศ. 2489 - 2493 หลักสูตรที่ใช้คือ แนวการเตรียมการจัดอนุบาลศึกษา กำหนดหลักสูตรไว้ 2 ปี วิชาที่เรียนได้แก่ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม การเล่นฝึกเชาวน์ ภาษาไทย เลขคณิต ความรู้เรื่องเมืองไทย วาดเขียนและการฝีมือ ขับร้อง สุขศึกษา
    2) ช่วง พ.ศ. 2494 - 2502 หลักสูตรคล้ายคลึงกับหลักสูตรในช่วงปี พ.ศ. 2489 - 2493 โดยกำหนดให้เรียนวิชาต่อไปนี้ คือ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติศึกษา สุขศึกษาและพลศึกษา ขับร้องเพลง ดนตรี วาดเขียนและการฝีมือ
    3) ช่วง พ.ศ. 2503 - 2519 หลักสูตรฉบับนี้เป็นการเรียนการสอนโดยแยกเป็นรายวิชาทั้งสิ้น 7 รายวิชา ได้แก่ ไทย เลขคณิต พลานามัย ธรรมชาติศึกษา สังคมศึกษา ศิลปศึกษา ขับร้องและดนตรี
    4) ช่วง พ.ศ. 2520 - 2534 มีการประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ 2520 มีการประกาศใช้ระเบียบการจัดชั้นเด็กเล็ก และในแผนการศึกษาชาติฉบับนี้ได้มีการกล่าวถึงการศึกษาปฐมวัยไว้อย่างชัดเจน โดยใช้ชื่อว่า "ระดับก่อนประถมศึกษา" ซึ่งเป็นการศึกษาที่มุ่งอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนการศึกษาภาคบังคับ เพื่อเตรียมเด็กให้มีความพร้อมทุกด้าน โดยมุ่งจัดประสบการณ์การเรียนการสอนเป็นมวลประสบการณ์ 3 กลุ่ม คือ เตรียมสร้างเสริมทักษะภาษาไทยและคณิตศาสตร์ เตรียมสร้างเสริมประสบการณ์ และเตรียมสร้างเสริมลักษณะนิสัย
    5) ช่วง พ.ศ. 2535 - 2538 เป็นช่วงที่หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยมีความก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า "แนวการจัดประสบการณ์ระดับอนุบาลศึกษาฉบับปรับปรุง" โดยมุ่งพัฒนาเด็กทุกด้าน และเน้นพัฒนาคุณสมบัติที่ดีให้แก่เด็กด้วยการจัดในรูปกิจกรรมแทนการสอนเป็นรายวิชาให้สอดคล้องกับ การพัฒนาคุณสมบัติที่ดีให้แก่เด็กวัยนี้รวมทั้งยึดเด็กเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรม และคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล