วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

การศึกษาปฐมวัย

การศึกษาปฐมวัย
การจัดการศึกษาปฐมวัยเป็นการจัดการศึกษาก่อนภาคบังคับที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในอันที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กปฐมวัย ได้รับการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับวัยและพัฒนาการ ทั้งนี้เนื่องจากเด็กปฐมวัยหมายถึงเด็กที่มีอายุระหว่าง 0-6 ขวบนั้น เป็นวัยที่มีพัฒนาการทุกด้าน เจริญเติบโตในอัตราที่สูงสุด โดยเฉพาะระบบประสาทและสมองซึ่งเจริญเติบโตได้ถึงร้อยละ 80 ของผู้ใหญ่ เป็นระยะที่เกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุดในชีวิต ศักยภาพแห่งการเรียนรู้และพัฒนาการด้านต่างๆ สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ หากได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง นักจิตวิทยาและนักการศึกษาทั่วไปต่างเชื่อว่า ประสบการณ์ที่เด็กปฐมวัยได้รับจัยเป็นพื้นฐานของการพัฒนาการทุกด้านต่อเนื่องไปจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การวางรากฐานที่ดีให้กับเด็กปฐมวัย จึงเท่ากับเป็นการเตรียมและสร้างพลเมืองที่ดีมีคุณภาพให้กับประเทศชาตินั่นเอง อาจกล่าวได้ว่าจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษาปฐมวัย ก็เพื่อสร้างเสริมพัฒนาการทุกด้านให้เจริญเติบโตถึงขีดสุดของศักยภาพและเตรียมความพร้อมเพื่อการเรียนรู้และชีวิต โดยคุณสมบัติที่มุ่งสร้างเสริม คือ กระบวนการคิด กระบวนการกลุ่มคุณธรรม จริยธรรม วิถีชีวิตไทย สิ่งแวดล้อมและค่านิยม ความเสมอภาค
ดังนั้น การจัดการศึกษาปฐมวัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการวางรากฐานเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ อีกทั้งยังมีความสำคัญในฐานะที่เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการการจัดการศึกษาของมนุษย์อันเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ การศึกษาปฐมวัยจึงเป็นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลสำหรับอนาคตของประเทศบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศาสตร์
แม้ว่าการจัดการศึกษาปฐมวัยของไทยเราจะมีมาตั้งแต่โบราณกาล คือ ตั้งแต่ในสมัยกรุงสุโขทัยก็ตามแต่มิได้มีการดำเนินการอย่างมีแบบแผนกล่าวคือ เป็นการศึกษาแบบไม่เป็นทางการ (Informal Education) คือไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่นอน ไม่มีโรงเรียนสำหรับเรียนโดยเฉพาะ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีการบังคับ เป็นการสอนแบบให้เปล่า ไม่มีค่าจ้างหรือค่าเล่าเรียน การเรียนจึงขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้เรียน เนื้อหาที่เรียนเน้นพุทธิศึกษาและวิชาชีพเป็นหลัก การจัดการศึกษาปฐมวัยลักษณะนี้ดำเนินมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คือตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2411 เป็นต้นมา บ้านเมืองได้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน รวมทั้งการศึกษาก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย และได้เกิดการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญ จากการปฏิรูปการศึกษาในครั้งนี้ส่งผลให้การจัดการศึกษา ปฐมวัยมีรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น ถือเป็นการศึกษาปฐมวัยในยุคเริ่มต้นอย่างมีระเบียบแบบแผน รูปแบบการจัดการศึกษาปฐมวัยที่ปรากฏขึ้นเป็นประการแรก คือ มีการจัดตั้ง "โรงเลี้ยงเด็ก" และมีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรก คือ โรงเรียนราชกุมาร และ โรงเรียนราชกุมารี สำหรับพระเจ้าลูกยาเธอ และพระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ นับเป็นสถานศึกษาปฐมวัยแห่งแรกที่เปิดดำเนินการอย่างเป็นระบบโดยมีการกำหนดชั้นเรียน วิชาเรียน และเวลาเรียนที่ชัดเจน ความตื่นตัวเกี่ยวกับการจัดการศึกษาปฐมวัยในยุคนี้ยังปรากฏในช่วงปลายรัชสมัยนี้ด้วย กล่าวคือ ได้มีการเผยแพร่ขยายแนวความคิดในการจัดการศึกษาปฐมวัยตามแบบตะวันตกของเฟรอเบลและมอนเตสซอรี่ เข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งแรกและจากการนี้ได้ก่อให้เกิดการศึกษาในรูปแบบ "อนุบาล" ขึ้นในสมัยต่อมาอีกอย่างแพร่หลาย โดยเริ่มในลักษณะโรงเรียนราษฎร์เป็นส่วนใหญ่ โรงเรียนราษฎร์ที่เปิดสอนในระยะแรกมี 3 แห่ง คือ วัฒนาวิทยาลัย มาแตร์เดอี และราชินี หลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียนทั้งสามแห่ง คือ แนวหลักสูตรของเฟรอเบล และมอนเตสซอรี่
นอกจากนี้รัฐบาลได้ส่งบุคลากรไปดูงานด้านการอนุบาลศึกษาในต่างประเทศ และเมื่อกลับมา ได้นำแนวคิดมาจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลของรัฐในปี พ.ศ. 2483 คือ โรงเรียนอนุบาลละอออุทิศ ซึ่งยึดแนวการสอนแบบมอนเตสซอรี่ และเริ่มมีหลักสูตรใช้อย่างเป็นทางการและเป็นต้นแบบของโรงเรียนอนุบาลของรัฐในระยะต่อมา เป็นที่น่าสังเกตว่าปรัชญาการจัดการศึกษาที่นักการศึกษาไทย ได้รับอิทธิพลมาจากการไปศึกษาดูงานในต่างประเทศจนมีการจัดตั้งโรงเรียนอนุบาลของเอกชนและของรัฐ โดยยึดแนวการจัดการศึกษาของเฟรอเบล และของมอนเตสซอรี่
สำหรับหลักสูตรระดับปฐมวัยมีการประกาศใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2489 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 5 ช่วง คือ
1) ช่วง พ.ศ. 2489 - 2493 หลักสูตรที่ใช้คือ แนวการเตรียมการจัดอนุบาลศึกษา กำหนดหลักสูตรไว้ 2 ปี วิชาที่เรียนได้แก่ หน้าที่พลเมือง และศีลธรรม การเล่นฝึกเชาวน์ ภาษาไทย เลขคณิต ความรู้เรื่องเมืองไทย วาดเขียนและการฝีมือ ขับร้อง สุขศึกษา
2) ช่วง พ.ศ. 2494 - 2502 หลักสูตรคล้ายคลึงกับหลักสูตรในช่วงปี พ.ศ. 2489 - 2493 โดยกำหนดให้เรียนวิชาต่อไปนี้ คือ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติศึกษา สุขศึกษาและพลศึกษา ขับร้องเพลง ดนตรี วาดเขียนและการฝีมือ
3) ช่วง พ.ศ. 2503 - 2519 หลักสูตรฉบับนี้เป็นการเรียนการสอนโดยแยกเป็นรายวิชาทั้งสิ้น 7 รายวิชา ได้แก่ ไทย เลขคณิต พลานามัย ธรรมชาติศึกษา สังคมศึกษา ศิลปศึกษา ขับร้องและดนตรี
4) ช่วง พ.ศ. 2520 - 2534 มีการประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ 2520 มีการประกาศใช้ระเบียบการจัดชั้นเด็กเล็ก และในแผนการศึกษาชาติฉบับนี้ได้มีการกล่าวถึงการศึกษาปฐมวัยไว้อย่างชัดเจน โดยใช้ชื่อว่า "ระดับก่อนประถมศึกษา" ซึ่งเป็นการศึกษาที่มุ่งอบรมเลี้ยงดูเด็กก่อนการศึกษาภาคบังคับ เพื่อเตรียมเด็กให้มีความพร้อมทุกด้าน โดยมุ่งจัดประสบการณ์การเรียนการสอนเป็นมวลประสบการณ์ 3 กลุ่ม คือ เตรียมสร้างเสริมทักษะภาษาไทยและคณิตศาสตร์ เตรียมสร้างเสริมประสบการณ์ และเตรียมสร้างเสริมลักษณะนิสัย
5) ช่วง พ.ศ. 2535 - 2538 เป็นช่วงที่หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยมีความก้าวหน้ามาก โดยเฉพาะหลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ หรือที่เรียกว่า "แนวการจัดประสบการณ์ระดับอนุบาลศึกษาฉบับปรับปรุง" โดยมุ่งพัฒนาเด็กทุกด้าน และเน้นพัฒนาคุณสมบัติที่ดีให้แก่เด็กด้วยการจัดในรูปกิจกรรมแทนการสอนเป็นรายวิชาให้สอดคล้องกับ การพัฒนาคุณสมบัติที่ดีให้แก่เด็กวัยนี้รวมทั้งยึดเด็กเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรม และคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น