วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเด็กปฐมวัย

   โดย...นายสุพจน์  มณีรัตนโชติ  รองผอ.สพท.นธ.เขต 2
นายทองต่อ  พันธเสน  ศึกษานิเทศก์  สพท.นธ.เขต 2
                                               นางรดา  ธรรมพูนพิสัย  ศึกษานิเทศก์  สพท.นธ.เขต 2
                การจัดการศึกษาปฐมวัยเป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยมุ่งส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านอย่างสมดุล รวมทั้งการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่ดีงามให้แก่เด็ก โดยผ่านประสบการณ์เล่นและการเรียนรู้อย่างมีความหมาย
                ในปี พุทธศักราช 2546 ได้มีการประกาศหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย เพื่อเป็นแนวทางให้โรงเรียนอนุบาลหรือสถานเลี้ยงดูและพัฒนาเด็ก ได้จัดการศึกษาและอบรมเลี้ยงดูเด็กอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานของหลักสูตร จึงได้กำหนดให้มีการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาเฉพาะแต่ละแห่งที่เหมาะสม กับการพัฒนาและ การจัดการศึกษาให้แก่เด็กปฐมวัยในสถานศึกษานั้น ๆ อย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ( บทนำ,สถาบันพัฒนาคุณภาพวิชาการ )
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย  พุทธศักราช  2546
                ปรัชญาการศึกษาปฐมวัย
                การศึกษาปฐมวัยเป็นการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี ( 5 ปี 11 เดือน 29 วัน )บนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้  ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กแต่ละคนตามศักยภาพ ภายใต้ บริบทสังคม  วัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่  ด้วยความรัก  ความเอื้ออาทรและความเข้าใจของทุกคน  เพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  เกิดคุณค่าต่อตนเองและสังคม
                หลักการ
                1.ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการที่ครอบคลุมเด็กปฐมวัยทุกประเภท
                2.ยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ  โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลและวิถีชีวิตของเด็กตามบริบทของชุมชน  สังคมและวัฒนธรรมไทย
                3.พัฒนาเด็กโดยองค์รวมผ่านการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย 
                4.จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
                5.ประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัว  ชุมชนและสถานศึกษาในการพัฒนาเด็ก
หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุ  3 – 5 ปี
จุดหมาย
                มุ่งให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย  อารมณ์  จิตใจ  สังคมและสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย  ความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล  จึงกำหนดจุดหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานให้เด็กเกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์
คุณลักษณะที่พึงประสงค์สำหรับเด็กปฐมวัย อายุ  3 – 5 ปี
                1.ร่างกายเจริญเติบโตตามวัยและมีสุขนิสัยที่ดี
                2.กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กแข็งแรง  ใช้ได้อย่างคล่องแคล่วและประสานสัมพันธ์กัน
                3.มีสุขภาพจิตดีและมีความสุข
                4.มีคุณธรรม  จริยธรรมและมีจิตใจที่ดีงาม
                5.ชื่นชมและแสดงออกทางศิลปะ  ดนตรี  การเคลื่อนไหวและรักการออกกำลังกาย
                6.ช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย
                7.รักธรรมชาติ  สิ่งแวดล้อม  วัฒนธรรมและความเป็นไทย
                8.อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
                9.ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย
                10.มีความสามารถในการคิดและแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย
                11.มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
                12.มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้และมีทักษะในการแสวงหาความรู้
ระยะเวลาเรียน
                ใช้เวลาในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก  1 – 3 ปี การศึกษาโดยประมาณ  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของเด็กที่เริ่มเข้าสถานศึกษาหรือสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย 



สาระการเรียนรู้
                สาระการเรียนรู้ใช้เป็นสื่อกลางในการจัดกิจกรรมให้กับเด็ก  ความรู้สำหรับเด็กอายุ 3 – 5 ปี จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ  1. ตัวเด็ก 2.บุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก  3.ธรรมชาติรอบตัวเด็ก  4.สิ่งต่างๆรอบตัวเด็ก
                สาระการเรียนรู้กำหนดเป็น  2  ส่วน
 1.ประสบการณ์สำคัญ
ประสบการณ์สำคัญเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเด็กทางด้านร่างกาย  อารมณ์  จิตใจ  สังคมและสติปัญญา  ช่วยให้เด็กเกิดทักษะที่สำคัญสำหรับการสร้างองค์ความรู้ โดยให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุ  สิ่งของ  บุคคลต่างๆที่อยู่รอบตัวรวมทั้งการปลูกฝังคุณธรรม  จริยธรรมไปพร้อมกันด้วย
2.สาระที่ควรเรียนรู้
สาระที่ควรเรียนรู้เป็นเรื่องราวรอบตัวเด็กที่นำมาเป็นสื่อ  ในการจัดกิจกรรมให้เด็กเกิดการเรียนรู้    ไม่เน้นการท่องจำเนื้อหา  ผู้สอนสามารถกำหนดรายละเอียดขึ้นเองได้  ให้สอดคล้องกับวัย  ความต้องการและความสนใจของเด็ก  โดยให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์สำคัญ  ทั้งนี้อาจยืดหยุ่นเนื้อหาได้  โดยคำนึงถึงประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมในชีวิตจริงของเด็ก
ลักษณะการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
                เด็กปฐมวัยเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นรูปธรรม  การปฏิบัติและการมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อและบุคคลที่แวดล้อมเด็ก      ดังนั้น  สื่อและแหล่งการเรียนรู้  จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ครูสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้  เพื่อสร้างความรู้  ความเข้าใจ  ความรู้สึกและเพิ่มพูนทักษะทางด้านต่างๆให้แก่เด็ก
สื่อที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
                1.เหมาะสมกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละช่วงวัย
                2.มีความเป็นรูปธรรมสูง  เด็กสามารถกระทำได้ด้วยตนเอง  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้
                3.เชื่อมโยงโลกภายในและโลกภายนอกของเด็กได้  มีความหมายต่อการเรียนรู้
                4.สามารถใช้ได้จริง  ไม่เสี่ยงต่อการเกิดความรู้สึกล้มเหลวในการเรียนรู้ของเด็ก
                5.มีจุดประสงค์ของการนำไปใช้แน่นอนว่า  ใช้เพื่ออะไรและใช้อย่างไร
                6.สร้างความสนุกสนาน  จินตนาการ  ความคิดสร้างสรรค์และมีความสุขในการเรียนรู้



การประเมินพัฒนาการ
                1.ประเมินพัฒนาการครบทุกด้านเป็นรายบุคคลอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
                2.ครูต้องสังเกตและประเมินพัฒนาการเด็กจากคุณลักษณะตามวัย  ครูพบความผิดปกติต้องรีบแก้ไขโดยเร็ว
3.นำข้อมูลการประเมินมาพิจารณาปรับปรุง  วางแผนการจัดกิจกรรมและการจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
                4.รายงานผลการประเมินให้กับผู้ปกครอง
ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินพัฒนาการ( ต้องเหมาะสมกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็ก )
                1.แบบสังเกตพฤติกรรม
                2.แบบประเมินพัฒนาการ
                3. Portfolio
                4.อุปกรณ์สำหรับบันทึกภาพหรือเหตุการณ์ต่างๆเพื่อจัดทำสารนิทัศน์
มาตรฐานการศึกษาปฐมวัย
                1.มาตรฐานด้านคุณภาพเด็ก ( มาตรฐานที่ 1 – 8 )
              2.มาตรฐานด้านการจัดการเรียนรู้( มาตรฐานที่ 9 – 10 )
                3.มาตรฐานด้านการบริหารและการจัดการศึกษา ( มาตรฐานที่ 11- 16 )
                3.มาตรฐานด้านการพัฒนาชุมชนแห่งการเรียนรู้ ( มาตรฐานที่ 17 – 18 )
                จากการประชุมปฏิบัติการเสริมสมรรถนะศึกษานิเทศก์ที่รับผิดชอบงานการจัดการศึกษาปฐมวัย      ในระหว่างวันที่ 21-26 กุมภาพันธ์ 2553 ณ  โรงแรมเอเชียแอพอร์ท  กรุงเทพมหานคร 
     ประธานพิธีเปิดโดย ดร.ชินภัทร  ภูมิรัตน์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความเห็นว่า     รัฐดูแลการศึกษาปฐมวัย  น้อยเกินไปทั้งๆที่บอกว่าปฐมวัยคือรากฐานของชีวิต  จนต้องมีโครงการเพื่อรณรงค์เช่น  ส่งเสริมรักการอ่าน  การเรียนรู้ตลอดชีวิต  Play and Learns  เป็นตัวสะท้อนแนวการจัดประสบการณ์ได้ดี ไม่เน้นให้อ่านและเขียนเร็วเกินไป  จึงเกิดความขัดแย้งในแนวคิด  ทฤษฏี  ปฏิบัติ  กับความต้องการของผู้ปกครอง  การดูแลเอาใจใส่ปฐมวัยอย่างจริงจังคือกุญแจนำไปสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษาและมีความเห็นโดยสรุปว่า  การศึกษาปฐมวัยคุ้มค่าต่อการลงทุนของรัฐบาลเพราะมีความเชื่อว่า “การป้องกันดีกว่าการแก้ไขปัญหา การเตรียมความพร้อมระดับปฐมวัย  เป็นการป้องกันปัญหาทั้งหมด ดังนั้นควรเน้น          การส่งเสริมระบบนิเทศการศึกษา
                แก่นแท้นวัตกรรมการสอนภาษาแบบธรรมชาติ ( Whole Language Approach) ให้ความรู้โดย         ดร.นฤมล  เนียมหอม  คบ, คม, คด, การศึกษาปฐมวัย  โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ  กทม. เขต 1 ได้ให้ความรู้ว่า     การสอน ภาษาแบบธรรมชาติ  ปรัชญาและระบบความเชื่อที่ทำให้เกิดการสอนภาษาโดยองค์รวม ทฤษฏี    การเรียนรู้ที่มีอิทธิพลได้แก่ 
                Dewey: เด็กเรียนรู้ภาษาจากประสบการณ์และการลงมือกระทำ ( เรียนอ่านด้วยการอ่าน  เรียนเขียนด้วยการเขียน  เรียนการฟังจากให้ฟัง ) ไม่ใช่ให้นักเรียนเรียนการอ่านด้วยวิธีการฟัง
                Piaget: กระบวนการก้าวห่างของแต่ละขั้น ( ขั้นซึมซับประสบการณ์ ขั้นสงสัยทำให้เกิดความสมดุล  การปรับโครงสร้างทางสติปัญญา )
Vygotsky: การถ่ายทอดทางสังคม
                โดยเชื่อมั่นว่า  เด็กจะสามารถอ่านและเขียนได้ดีขึ้นและถูกต้องยิ่งขึ้น  ตอบสนองต่อการใช้ภาษา  ของเด็กอย่างเหมาะสมโดยไม่คาดหวังให้เด็กอ่านและเขียนได้อย่างผู้ใหญ่  เด็กมีโอกาสอ่านเขียนอย่าง           มีจุดมุ่งหมายจริงๆในชีวิตประจำวัน  โดยมีครูเป็นแบบอย่างที่ดี  หากเด็กเขียนผิดครูจะแสดงตัวอย่างที่ถูกต้องให้เด็กดูในโอกาสที่เหมาะสม
                กิจกรรมการเรียนการสอน  เช่น 
-          สนทนาข่าวและเหตุการณ์
-          อ่านออกเสียงให้เด็กฟัง ( มีช่วงเวลานิทาน  กลุ่มใหญ่  กลุ่มย่อย )
-          การเล่าเรื่องซ้ำ ( เด็กต้องมีประสบการณ์ในการฟัง )
-          การอ่านร่วมกัน
-          การสอนอ่านแบบชี้แนะ
-          อ่านอิสระ
-          อ่านเงียบ ๆตามลำพัง ( ใช้เวลาประมาณ  5  นาที  )
-           การเขียนร่วมกัน  ( อาจเขียนก่อนหรือหลังการทำกิจกรรม )
-          เขียนอิสระ ( ครูต้องเคารพการเขียนของเด็ก เด็กจะเขียนอะไรก็ได้ เป็นตัวอักษรหรือไม่ก็ได้ )
การสอนแบบโครงการ ( Project )
ความหมาย : การศึกษาอย่างละเอียดลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของ เด็กทั้งห้อง / เด็กกลุ่มเล็ก / รายบุคคล
ขั้นตอนการสอน  แบ่งเป็น  3  ระยะคือ  ระยะเริ่มต้น  ระยะพัฒนา  สรุป
ลักษณะโครงสร้าง  5  ขั้นตอน
1.       การอภิปรายกลุ่ม  ( ที่ตนเองทำกับเพื่อน  กลุ่มย่อย  กลุ่มใหญ่ )
2.       การทำงานภาคสนาม ( เป็นประสบการณ์เรียนรู้ขั้นแรก )
3.    การนำเสนอประสบการณ์เดิม  ( เป็นการทบทวนโดยการเขียนวาดภาพ  สัญลักษณ์  คณิตศาสตร์  เป็นที่มาของการเขียนแผนการจัดประสบการณ์  สิ่งที่เด็กรู้แล้ว  สิ่งที่อยากรู้  สิ่งที่ควรรู้ )
4.       การสืบค้น
5.       การจัดแสดง
การสอนแบบมอนเทสซอริ ( Montessori ) ผู้ให้ความรู้คือ  ดร.อรพรรณ  บุตรกตัญญู  อาจารย์ประจำภาควิชาการศึกษา  สาขาการศึกษาปฐมวัย  ม.เกษตรศาสตร์
หัวใจของการสอนแบบมอนเทสซอริ คือ  สื่อและอุปกรณ์ให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติ  โดยอุปกรณ์ไม่ใช่แค่มี  แต่พร้อมใช้และต้องรู้วิธีว่าใช้อย่างไร เน้นการศึกษาด้านประสาทสัมผัสโดยมีจุดมุ่งหมายฝึกประสาทสัมผัส  เนื้อหาประกอบด้วย  สี  มิติ 
การตระเตรียมสำหรับการเขียนและคณิตศาสตร์สำหรับกลุ่มวิชาการ 
-                      มีจุดมุ่งหมายเพื่อการเตรียมตัวสู่ระบบการศึกษา  เนื้อหา เน้นการอ่านการเขียน  เป็นการนำ ไปสู่การเรียนคณิตศาสตร์
-                      อุปกรณ์มอนเทสซอริ  เช่น  หอคอยสิชมพู  ( เรียนรู้เรื่องขนาด )
-                      ตัวอักษรกระดาษทราย ( ทิศทางตัวอักษรที่ถูกต้องเชื่อว่าหากเด็กใช้นิ้วสัมผัสกระดาษทราย  จะทำให้เด็กจำได้จนขึ้นใจ )
ที่สำคัญที่สุด  ครูต้องรู้วิธีการใช้และแสดงการใช้อุปกรณ์ได้อย่างเหมาะสม
การสอนตามแนวคิดของวอลดอร์ฟ  ผู้ให้ความรู้คือ  ดร.อภิสิรี  จรัญชวเมท  เป็นการพัฒนาพื้นฐานก่อนเข้าสู่ชั้นประถมปีที่ 1 หลักของการจัดกิจกรรมของวอลดอร์ฟ “เธอเป็นแม่อย่างไร  จัดห้องเรียนอย่างนั้น” นำมาเชื่อมโยงงานวิชาการ ( ฝึกเตรียมอาหาร  การจัดห้องนอน  ) จัดโรงเรียนอนุบาลเหมือนบ้านตนเอง โดยมีข้อสังเกต  เด็กอยากทำหน้าที่จนสำเร็จหรือไม่  ครูมีหน้าที่สนับสนุนการศึกษา ( ครูทำหน้าที่เหมือนแม่ )
การขับเคลื่อนการนิเทศสู่การพัฒนาการจัดการศึกษาปฐมวัย ผู้ให้ความรู้คือ  นายพิสิษฐ์  เทพดวงแก้ว  ( ศน.เชี่ยวชาญ ) เชียงราย  เขต  1  ในกระบวนการนิเทศต้องทำการศึกษา  วิเคราะห์ ว่าครูต้องการพัฒนาอะไรและนำนโยบายรัฐบาลมาพิจารณาร่วมด้วยโดยตั้งจุดมุ่งหมายหัวข้อในการพัฒนา  หากเป็นเรื่องการจัดประสบการณ์  เราต้องสร้างเครื่องมือในการนิเทศ  การปฏิบัติการนิเทศใช้วิธีการนิเทศรวม (ประชุมอบรม )
โดยใช้ครูแกนนำ  ครูที่มีความสามารถเข้ามาร่วมในการนิเทศ  สิ่งที่ติดตามจะติดตามเรื่องที่ สพท.จัดอบรม   ให้ความรู้    การนิเทศเป็นการติดตาม  ช่วยเหลือตรงจุดที่ต้องพัฒนาพร้อมกับมีเครื่องมือในการเก็บข้อมูล     นั่นคือ  การทำงานต้องอิงหลักการ  ในการรายงานบนพื้นฐาน  โดยใช้รูปแบบมุ่งอนาคต  นั่นคือต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาเด็กปฐมวัย  เพื่อให้เด็กได้รับการพัฒนาเต็มศักยภาพ  ยึดมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของหลักสูตรปฐมวัย  พ.ศ.  2546  เป็นหลัก  โดยเน้นให้ครูปฐมวัยเล็งเห็นคุณลักษณะของเด็ก แต่ละคนอย่างชัดเจนและสามารถพัฒนาให้ถึงความสามารถสูงสุด 
                Book start  หนังสือเล่มแรกสำหรับโครงการพัฒนาพ่อแม่  ผู้ปกครอง  บรรยายโดยอาจารย์เรืองศักดิ์  ปิ่นประทีป  ให้ความรู้ดังนี้
                เด็กแรกเกิดถึง  6  ปี  สมองโตไปแล้วกว่า  80 % เมื่อเราจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านในระดับประถมศึกษาเป็นการจัดที่สายเสียแล้ว  ให้เด็กเกิดนิสัยรักการอ่านได้แต่เหนื่อยมากเพราะต้องมีตัวล่อ ( อ่าน 10  เล่มได้ดินสอ  1  แท่ง ฯลฯ ) เพราะนิสัยถาวร  ( 0 – 6 ปี ) ได้หายไป  แต่การอ่านที่ถูกบังคับไม่ได้ก่อให้เกิดนิสัยรักการอ่านถาวร  จากการวิจัยการอ่านหนังสือให้ฟังหรือส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน  ควรเริ่มตั้งแต่อายุ        6 เดือน  ถึง  6  ปี  ช่วงเวลานี้ เป็นช่วงพัฒนาการอ่านที่ดีมาก  สำหรับหนังสือเล่มแรก อยากให้เด็กมีสมรรถนะตามวัย  เราจะต้องทำ  4  อย่างนี้เป็นประจำ  คือ  1.เสียงเพลงและดนตรี  2.ศิลปะ  3.กิจกรรมเคลื่อนไหว        4.เล่านิทาน  อ่านหนังสือ
                การปลูกฝังให้เด็กเป็นนักอ่านที่ดีต้องมี  11 ... 7  อย่า
1.ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี  2.ต้องมีมุมหนังสือในบ้าน/ห้องเรียน 3.ต้องเลือกหนังสือตามวัย  4.ต้องใส่ใจชวนกันไปอ่าน  5.ต้องชื่นชมกันเสมอ  6.ต้องนำเสนออย่างมีความสุข  7.ต้องหากิจกรรมสนุก ๆมาประกอบ  8.ต้องต่อยอดทางความคิด ( เช่น ถามเรื่องจากภาพ )  9.ต้องไม่คิดถึงวัย ( ไม่คำนึงว่าอายุ  6  เดือน )  10.ต้องใช้เวลาพอดี ( อย่างเล่าครึ่งเรื่องแล้วพรุ่งนี้ค่อยเล่าต่อ.. เด็กจะเรียนรู้การผลัดวัน ประกันพรุ่ง )  11.ต้องมีระเบียบชีวิต
...7  อย่า  ได้แก่ 1.อย่ายัดเยียด  2.อย่าหวังสูง ( เด็กชอบอ่านจะมีผลการเรียนดีเยี่ยม )  3.อย่ากังวล        ( ว่าเด็กจะฉีกหนังสือ )  4.อย่าจ้องสอน ( ในการให้เริ่มอ่านครั้งแรก ๆ อ่านให้จบก่อน  อย่ามัวแต่สอน        เด็กจะไม่สนุก )  5.อย่าถามมาก  6.อย่าขัดคอ ( หากเด็กเล่าย้อนกลับไม่ตรงกับเรื่อง )  7.อย่าเบื่อหน่าย
สารนิทัศน์ในระดับปฐมวัย บรรยายโดย รศ. ดร.พัชรี  ผลโยธินและดร.วรนาท  รักสกุลไทย
สารนิทัศน์เป็นการจัดทำข้อมูลที่จะเป็นหลักฐานหรือแสดงให้เห็นร่องรอยของการเจริญเติบโต  พัฒนาการและการเรียนรู้  สารนิทัศน์  มองได้สองส่วน  คือ  กระบวนการและเนื้อหา
ความสำคัญ  สามารถพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาได้อย่างมีระบบ  ให้อำนาจครูในการกำหนดเป้าหมาย  บทบาทในการพัฒนาและการประเมินตนเอง
ประเภทของสารนิทัศน์
-                      การบรรยายเกี่ยวกับเรื่องราวหรือประสบการณ์ที่เด็กได้รับ
-                      การสังเกตและบันทึกพัฒนาการเด็ก
-                      พอร์ตโฟลิโอ  สำหรับเด็กเป็นรายบุคคล
-                      การสะท้อนตนเองของเด็ก
-                      ผลงานรายบุคคลและรายกลุ่ม                                                                            
การบูรณาการการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ผ่านดนตรี ในระดับอนุบาล ( สสวท. )
การสอนเพลง  ควรมีกิจกรรมประกอบ  เด็กจะได้รับรู้ถึงจังหวะ  กิจกรรม  มีความคิดสร้างสรรค์จากการออกแบบการทำกิจกรรม
องค์ประกอบที่สำคัญของดนตรี  มี  2 ส่วน  คือ  เสียงและจังหวะ  การจัดกิจกรรมในส่วนของจังหวะ  เช่น  นับจังหวะในเพลงแล้วใช้สัญลักษณ์แทนการนับจังหวะ  ซึ่งสามารถสอดแทรกการสอนวิทย์-คณิตฯ    ในเรื่องของการนับ  รูปทรง  แบบรูป  สัญลักษณ์  การเชื่อมโยง
การพัฒนาศักยภาพทางภาษาด้วย Big Book  โดย อาจารย์สุวรรณา  ชีวพฤกษ์
กิจกรรมการสอนภาษาโดยใช้หนังสือเล่มใหญ่
1.กิจกรรมการอ่านร่วมกัน  มีการเตรียมตัวให้เด็กดูรูปเพื่อเชื่อมโยงกับชื่อเรื่อง  ให้เด็กมีการคาดเดา  ซึ่งเด็กจะคาดเดาได้ต้องมีทักษะการสังเกต  การอ่านและชี้ไปทุกวลีแล้วจึงมาดูภาพรวม
2.ทำกิจกรรมส่งเสริมเนื้อหาหรือรูปภาพที่ปรากฏในหนังสือโดยเล่นบทบาทสมมุติ
3.กิจกรรมการอ่านแบบชี้แนะ
4.ให้เด็กมาเป็นคุณครู
5.กิจกรรมการเล่นเกมภาษา
6.กิจกรรมการอ่านข้อความตามโอกาส
7.กิจกรรมการอ่านหนังสือที่บ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น