วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

สาระน่ารู้สำหรับเด็ก

การสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูก

    เมื่อลูกโตขึ้น มีหลายสิ่งหลายอย่างที่จะแย่งเวลา และความสนใจของลูก ไปจากการอ่านหนังสือ คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะหาวิธีสร้างนิสัยรักการอ่าน ให้แก่ลูกเสียแต่เนิ่นๆ

การสร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูก เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากในเรื่องของเวลา ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์พบว่า การใช้เวลาเพียง 10 นาที ต่อวันในการอ่านหนังสือกับลูก สามารถที่จะช่วยให้เด็กชั้น ป.5 มีคะแนนการอ่านเอาเรื่อง อยู่ในระดับต้นๆ ได้ และในรายที่คุณพ่อคุณแม่ ใช้เวลาประมาณ 20 นาทีต่อวันในการอ่านหนังสือกับลูก สามารถทำให้เด็ก ได้คะแนนอยู่ในอันดับท็อปของห้องได้ และที่สำคัญการอ่านเป็นการเปิดโลกกว้างที่มีคุณค่ามากให้แก่ลูก ซึ่งจะมีบทบาทมาก ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของลูกในอนาคต

     ซึ่งวิธีสร้างนิสัยรักการอ่าน มีง่ายๆ ดังนี้

ควรหาเวลาอ่านออกเสียงดังๆ ด้วยกัน

     คุณพ่อคุณแม่หลายคน เลิกการอ่านหนังสือให้ลูก เมื่อลูกโตพอที่จะอ่านหนังสือเองได้ แต่ที่จริงแล้ว เด็กยังจะได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือด้วยกัน แม้ว่าจะโตเป็นวัยรุ่นแล้ว โดยการเลือกหนังสือที่มีระดับความยากง่ายที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก (หรือสูงกว่า) เมื่อเด็กยังเล็กหรือยังเป็นทารก

    การอ่านเป็นการฝึกฝนทักษะในการฟัง ซึ่งมักจะก้าวหน้ากว่าทักษะในการอ่านในช่วงที่เด็กยังอยู่ในระดับประถม โดยการทำเช่นนี้ จะช่วยให้ลูกได้รู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ และการวางรูปประโยค หรือ ความหมายของคำศัพท์ ที่อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละสภาวะ

     คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลูกเพิ่มพูนทักษะในการอ่านได้ โดยการเลือกหนังสือที่เหมาะสมกับวัยของเขา แล้วผลัดกันอ่านกับลูก เช่น ให้ลูกเริ่มอ่านย่อหน้าแรกก่อน แล้วคุณแม่ช่วยอ่านต่อ ในย่อหน้าที่สอง ควรปล่อยให้ลูก ได้พยายามอ่านจนจบ ตามที่กำหนดไว้เอง พยายามอย่าไปขัดคอ หรือตำหนิ หรือ คอยแก้ ถ้าเขาไม่สามารถอ่านได้ดีดังใจ แต่อาจจะช่วยแนะ ในคำที่ยากๆ ให้บางคำ

  พยายามอย่าบังคับ ให้ลูกต้องอ่านแต่หนังสือดีๆ ที่เราเลือกให้เท่านั้น เพราะในการอ่านให้สนุกนั้น เรื่องที่อ่านต้องน่าสนุกด้วย ผู้อ่านจึงจะรู้สึกอยากอ่าน และการอ่านก็คือการอ่าน ซึ่งเป็นเรื่องของทักษะ ยิ่งฝึกฝนมากก็จะยิ่งเก่งขึ้น ยิ่งอ่านได้เก่งขึ้น ก็จะยิ่งเกิดความสนุกในการอ่าน ก็จะยิ่งทำให้อยากอ่านมากขึ้นอีก คุณควรจะเลือกสิ่งที่จะให้ลูกอ่าน ที่เขียนในรูปแบบต่างๆกันบ้าง เช่น โคลง-กลอน ซึ่งเป็นคำที่สละสลวย และมีความหมายที่กระชับ และได้ใจความ เรื่องตลก หรือปัญหาเชาวน์ ที่จะทำให้เด็กรู้สึกว่าฉลาด และสามารถนำไปเล่า หรือ ถามเพื่อนได้ หนังสือการ์ตูน ซึ่งเป็นการสื่อโดยภาพและคำพูดบ้าง ทำให้สามารถอ่านเข้าใจได้เร็ว นิทาน ที่มีการวางตัวเอกต่างๆ ในเรื่องที่ชวนติดตาม ทำให้เกิดจินตนาการ ไปตามบทที่ตัวเอกต่างๆ เป็นอยู่ ทำให้เด็กเข้าใจได้ว่า เกิดอะไรขึ้น และจะมีผลอย่างไรต่อไป นิตยสาร ซึ่งเป็นลักษณะเรื่องสั้นๆ ที่อยู่ในความสนใจของเขา ทำให้อ่านได้ง่าย
พยายามหาโอกาสในการอ่าน

     ในระหว่างที่กำลังรอขึ้นรถไปโรงเรียน หรือเวลาที่รถติดมาก คุณอาจจะหาหนังสือเรื่องสั้นที่อ่านง่ายมาไว้ให้ลูกอ่าน ในเวลาสงบๆก่อนเข้านอน คุณแม่ควรหาช่วงเวลา ประมาณ 15-30 นาที อ่านหนังสือที่สบายๆ กับลูก พยายามทำให้การอ่าน เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่ง ที่น่าสนใจ จะเห็นว่าในห้องสมุด หรือร้านหนังสือใหญ่ๆ ในต่างประเทศ จะจัดในมีกิจกรรม “ชั่วโมงอ่านหนังสือ” หรือเล่านิทานให้แก่เด็กๆ ซึ่งคุณแม่ก็สามารถจัดให้ลูกได้เช่นเดียวกัน เช่น ทำเวลาวันเสาร์เย็น ที่มีเวลาอยู่ด้วยกัน ให้เป็นเวลาอ่านหนังสือ แทนที่จะให้ดูแต่ทีวี คุณแม่อาจจะนำเครื่องดื่ม หรือขนมขบเคี้ยวมาทานสลับไป ในระหว่างอ่านหนังสือ ก็จะทำให้เรื่องที่อ่านนั้น มีรสชาติมากขึ้น ในการเตรียมตัวเดินทาง หรือทำกิจกรรมของครอบครัวบางอย่าง เช่น การไปต่างจังหวัด คุณสามารถชวนให้เด็ก หัดอ่านค้นคว้า ถึงรายละเอียดของสถานที่ ที่จะไปเที่ยว หรือทำแผนการเดินทาง ที่มีรายละเอียดสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ซึ่งทำให้เด็กได้เรียนรู้มากขึ้น
ถ้าจะให้ดีควรจำกัดเวลาการดูทีวี
     เมื่อปี 2537ศูนย์การศึกษาแห่งชาติ ของสหรัฐอเมริกา ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับความสามารถในการอ่านของเด็ก และพบว่า ในกลุ่มเด็กที่ใช้เวลาดูทีวี น้อยกว่า 3 ช.ม.ต่อวัน จะมีความสามารถในการอ่านหนังสือ ดีกว่าเด็กที่ดูทีวีมากกว่า 3 ช.ม.ต่อวัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ดูมากกว่า 4-5 ช.ม.ต่อวันขึ้นไป จะแย่ที่สุด


พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก.คอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น