วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หลักการเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กปฐมวัย

หลักการเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย

การเปลี่ยนแปลงต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงปฐมวัยเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย มีความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการและมีการเตรียมความพร้อมให้กับเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสมก็จะส่งผลดีต่อพัฒนาการของเด็กได้อย่างดีด้วย
หลักการเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย จำเป็นต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้
1. องค์ประกอบของการเตรียมความพร้อม ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของเด็กปฐมวัย เป็นความรู้พื้นฐานของการเตรียมความพร้อมที่ยึดตัวเด็กเป็นศูนย์กลาง ซึ่งอาจแบ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ 5 อย่าง คือ
1.1 พัฒนาการ ในวัยที่แตกต่างกัน เด็กจะมีลำดับขั้นของพัฒนาการแต่ละด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา แตกต่างกัน การเตรียมความพร้อมจำเป็นจะต้องกระทำให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กตามขั้นตอนของพัฒนาการ เช่น ฝึกให้เด็กอายุ 3 ขวบ เขียนรูปสามเหลี่ยม เด็กไม่สามารถทำได้เนื่องจากการบังคับความเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อนิ้วมือยังไม่ดีเท่าที่ควร การให้เด็กฝึกขีดเขียนลากเส้นตามใจชอบ จะช่วยเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมกับวุฒิภาวะและความพร้อมของเด็ก เมื่อถึงเวลาแสดงออก โดยที่ไม่จำเป็นต้องบังคับเด็กให้เปล่าประโยชน์
1.2 ระดับวุฒิภาวะ เด็กแต่ละคนมีศักยภาพในการพัฒนาตนเองตามเวลาที่กำหนดโดยธรรมชาติ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอัตราเร็วช้า แตกต่างกันได้ การเรียนรู้ของเด็กจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพถ้าเด็กมีระดับวุฒิภาวะที่พร้อมแสดงออก ซึ่งเด็กก็จะสามารถแสดงพฤติกรรมหรือความสามารถนั้นได้ในเวลาอันรวดเร็ว เช่น การฝึกให้เด็กเขียนหนังสือในขณะที่เด็กอายุ 3 ปี ย่อมเกิดขึ้นได้ยากมากและใช้เวลานานกว่าการสอนเด็กอายุ 5 ปี
1.3 ความต้องการ การตอบสนองความต้องการพื้นฐานทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของเด็ก ช่วยให้การเตรียมความพร้อมของเด็กเป็นไปอย่างถูกต้องและเหมาะสม เด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ได้รับอาหารที่มีคุณค่าตามหลักโภชนาการ พร้อมทั้งได้รับความรัก ความอบอุ่นใจ และการยอมรับตนเอง จะทำให้เด็กมีความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆและมีกำลังใจที่จะพัฒนาตนเองยิ่งๆ ขึ้นไป
1.4 ความสนใจ ลักษณะเด่นของเด็กปฐมวัย คือ ความอยากรู้อยากเห็น ชอบตรวจค้นและสำรวจสิ่งรอบตัว ทั้งยังชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การจัดกิจกรรมและสภาพแวดล้อมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือกระทำ ค้นคว้า ทดลอง เรียนรู้ปนเล่นอย่างอิสระจากประสบการณ์ตรงที่ตนเองพอใจ จะช่วยสร้างเสริมความพร้อมทางการเรียนรู้แต่ละด้านได้เป็นอย่างดี
1.5 ความสามารถ เด็กทุกคนมีความสามารถเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งแตกต่างกัน ทั้งนี้จากอิทธิพลของการถ่ายทอดทางพันธุกรรมและประสบการณ์ได้รับจากสภาพแวดล้อม สังเกตได้ว่า เด็กที่พ่อแม่เป็นนักดนตรี มักมีความสามารถทางดนตรีเป็นพิเศษ เด็กที่มีความบกพร่องทางสายตา มักมีความสามารถพิเศษทางการได้ยิน จำแนกเสียง การเตรียมความพร้อมได้เหมาะสมกับความสามารถของเด็ก จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านนั้นได้ดียิ่งขึ้น
2. ลักษณะของการเตรียมความพร้อม การจัดประสบการณ์เตรียมความพร้อมต้องสอดคล้องกับพัฒนาการของเด็กปฐมวัยทุกด้านไปพร้อมๆ กัน เพื่อเป็นการเตรียมทักษะเบื้องต้นสำหรับการเรียนรู้ของเด็กในขั้นต่อไป คือ
2.1 ความพร้อมทางร่างกาย ได้แก่ สุขภาพอนามัย ความแข็งแรงของส่วนต่างๆทางร่างกาย สมรรถภาพการเคลื่อนไหว ความสัมพันธ์ของประสาทสัมผัส การรู้จักช่วยเหลือตนเอง
2.2 ความพร้อมทางอารมณ์และจิตใจ ได้แก่ สุขภาพจิต การรู้จักตนเอง การแสดงออกเมื่อมีความรู้สึกต่างๆ การควบคุมอารมณ์ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
2.3 ความพร้อมทางสังคม ได้แก่ ความสัมพันธ์กับผู้อื่น การปรับตัวเข้ากับผู้อื่นและสภาพแวดล้อม การยอมรับค่านิยมและกฎเกณฑ์ของสังคม การอยู่ร่วมกับผู้อื่น ความรับผิดชอบ
2.4 ความพร้อมทางสติปัญญา ได้แก่ สมรรถภาพการรับรู้ ความสามารถทางการเรียนรู้ การรู้จักคิดด้วยเหตุผลและการแก้ปัญหา ความสนใจสิ่งรอบตัว ความสามารถในการสังเกตและการจดจำ การใช้ภาษาสื่อความหมาย ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
3. หลักทั่วไปของการเตรียมความพร้อม การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยจะบังเกิดผลดีและมีประสิทธิภาพเพียงใดขึ้นอยู่กับประเด็นสำคัญที่ควรคำนึงถึงในการเตรียมความพร้อมของเด็กอย่างเหมาะสม คือ
3.1 ธรรมชาติของเด็ก เด็กทุกคนมีแบบแผนการเจริญเติบโตโดยส่วนรวมเหมือนกัน แม้กระนั้นเด็กทุกคนก็มีความแตกต่างเฉพาะตัวอันเนื่องมาจากอิทธิพลของพันธุกรรมและสภาพแวดล้อม การเตรียมความพร้อมของเด็กที่สอดคล้องกับลักษณะพฤติกรรม ระดับวุฒิภาวะ ความต้องการ ความสนใจและความสามารถของเด็กเป็นตัวบุคคลควบคู่ไปกับพัฒนาการตามวัยหรือช่วงอายุของเด็กจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กเกิดความรู้สึกที่ดีในการพัฒนาตนเองและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆได้ตามศักยภาพของตน
3.2 วิธีการเรียนรู้ของเด็ก เด็กเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใด หรือ
สถานการณ์ใด การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจและระดับความสามารถของเด็ก รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เด็กมีประสบการณ์ตรงหรือได้ลงมือกระทำ สัมผัส สำรวจ ค้นคว้าและทดลองสิ่งต่างๆรอบตัวจากการเล่นอย่างอิสระ หรือเล่นปนเรียนตามความพอใจของเด็ก จะทำให้เด็กมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และใฝ่รู้ด้วยตนเอง เป็นการสร้างความมั่นใจในการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้ดี
3.3 แนวการจัดประสบการณ์สำหรับเด็ก ประสบการณ์ที่เด็กได้รับควรมีลักษณะบูรณาการความรู้และทักษะต่างๆ ในรูปแบบของกิจกรรมที่ตอบสนองความต้องการและความพร้อมทุกๆด้านของเด็กอย่างผสมผสานไปด้วยกัน โดยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์และจิตใจ สังคมและสติปัญญา ตลอดจนฝึกฝนลักษณะนิสัยและทักษะเบื้องต้นสำหรับการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อมของเด็ก
3.4 ลักษณะของกิจกรรม การเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกกิจกรรมที่มีรูปแบบหลากหลายสอดคล้องกับความต้องและความสนใจของเด็กแต่ละวัย โดยสอดแทรกการเล่นหรือเกมการศึกษา จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้ง่ายและสนุกสนาน ทั้งนี้กิจกรรมควรมีความยากง่ายปะปนกัน มีระยะเวลาที่เหมาะสม และมีความสมดุลของกิจกรรมลักษณะต่างๆ เช่น กิจกรรมในร่ม-กลางแจ้ง กิจกรรมการเคลื่อนไหว-สงบ เป็นต้น
3.5 การจัดสภาพแวดล้อม เด็กทุกคนต้องการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งทางกายภาพและจิตภาพ กล่าวคือ เป็นสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้จากเครื่องเล่นและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตามวัย และความสนใจของเด็ก รวมทั้งเกิดความรู้สึกที่ดี อบอุ่น มั่นคง ด้วยการดูแล เอาใจใส่ แนะนำตักเตือนอย่างใกล้ชิด มีเหตุผลจากผู้ใหญ่และโอกาสที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกันกับเด็กอื่นวัยเดียวกันหรือต่างวัยอย่างสม่ำเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น